posttoday

ลุยปั้นนักออกแบบสู่ไทยแลนด์ 4.0

11 พฤษภาคม 2560

อาชีพนักออกแบบเริ่มมีความสำคัญกับอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการออกแบบบรรจุภัณฑ์

โดย...ทิพยาภรณ์ รักษา, จันทร์ลดา หารอ่อนตา

อาชีพนักออกแบบเริ่มมีความสำคัญกับอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันบุคลากรไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เพราะนโยบายรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม หรือประเทศไทย 4.0 ทำให้ผู้ประกอบการใส่ใจกับการออกแบบผลิตภัณฑ์มากขึ้น

สาคร สุขศรีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (ซีไอดีไอ) เปิดเผยว่า ซีไอดีไอตั้ง เป้าหมายเป็นศูนย์กลางการออกแบบของอาเซียน หรือดีไซน์ ฮับ ออฟ อาเซียน และพัฒนานักออกแบบไทยให้พัฒนาฝีมือการออกแบบทัดเทียมตลาดโลก โดยสถาบันเปิดสอน 2 สาขาวิชา คือ สาขาการออกแบบแฟชั่น และการออกแบบตกแต่งภายในและผลิตภัณฑ์ ขณะนี้มีแนวคิดขยายสาขาเพิ่มที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อขยายกำลังพัฒนาบุคลากรการออกแบบรองรับความต้องการในอนาคต สาเหตุที่สนใจ จ.เชียงใหม่ เพราะมีวัฒนธรรมน่าสนใจ ผู้คนในพื้นที่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์วัฒนธรรมได้ดี และสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย

ทั้งนี้ มองว่านักออกแบบไทย ที่มีคุณภาพยังไม่พอกับความต้องการตลาด อาจเพราะการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยที่เปิด สอนต้องผ่านการสอบคัดเลือกและรับนักศึกษาจำนวนจำกัด อีกทั้งใช้เวลา เรียนถึง 4 ปี หรือหากเป็นการเรียนการสอนในสถาบันการออกแบบเอกชนก็มีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงต้องการเข้ามาช่วยพัฒนาบุคลากร โดย 2-3 ปีที่ผ่านมา ซีไอดีไอร่วมมือกับสถาบัน Istituto Europeo di Design หรือไออีดี สถาบันการออกแบบจากเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี แลกเปลี่ยนบุคลากรทั้งอาจารย์และนักศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการปั้นนักออกแบบไทย ประโยชน์ที่ ได้คือช่วยดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนมากขึ้น สร้างบรรยากาศแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้นักศึกษาไทย

"หลักสูตรของซีไอดีไอพัฒนา มาจากหลักสูตรของประเทศอิตาลี สเปน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี และแคนาดา มีมาตรฐานรับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ ค่าใช้จ่ายการเรียน 1.9 แสนบาท ตลอดหลักสูตร 2 ปี จึงเอื้อต่อการช่วยพัฒนานักออกแบบ ให้มีมาตรฐานระดับโลก ที่ผ่านมาผลิตบุคลากรแล้วกว่า 1,000 คน เข้าไปมีส่วนออกแบบให้แบรนด์สินค้าต่างๆ โดยผู้ที่จะมาสมัครเรียนไม่ต้องมี พื้นฐานการออกแบบมาก่อน เลือกช่วงเวลาเรียนได้ทั้งรอบวันจันทร์อังคาร และวันเสาร์-อาทิตย์ จึงเปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาได้ง่ายขึ้น"

สาคร กล่าวว่า ที่ผ่านมานักออกแบบไทยมีไม่ถึง 10% ของความต้องการตลาด และแม้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญแต่ยังรับจ้างผลิต หรือโออีเอ็มอยู่มาก ซึ่งโออีเอ็มไม่ช่วยสร้างเศรษฐกิจยั่งยืน ไทยจึงต้องการบุคลากรการออกแบบที่มีคุณภาพมาออกแบบตอบโจทย์ธุรกิจ แสดงศักยภาพให้ ทั่วโลกเห็น เพราะการออกแบบมีต้นทุน 12-14% ของราคาขายสินค้าที่แท้จริง แต่ช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ถึง 20%

เมื่อการออกแบบช่วยให้สินค้าไทยน่าสนใจขึ้นและเพิ่มมูลค่าได้ หน่วยงานต่างๆ ก็ควรร่วมส่งเสริมบุคลากรคุณภาพด้านนี้ออกมา