posttoday

ส่องเช่า-ซื้อเสื้อผ้าผ่านโรงแรม มาแรงทั่วโลกแต่เกิดยากในไทย

22 ธันวาคม 2559

การยืมหรือเช่ากลายเป็นกระแสของการท่องเที่ยวโลกไปแล้ว ไม่ใช่แค่นำที่พักมาปล่อยเช่าระยะสั้น หรือนำรถส่วนตัวมาให้เช่า แต่อีกสิ่งที่มาแรงไม่แพ้กันในโลกคือการยืมหรือซื้อเสื้อผ้าในโรงแรมที่ไปพัก

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

การยืมหรือเช่ากลายเป็นกระแสของการท่องเที่ยวโลกไปแล้ว ไม่ใช่แค่นำที่พักมาปล่อยเช่าระยะสั้น หรือนำรถส่วนตัวมาให้เช่าอย่างที่ทุกคนเห็นกระแสเกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย แต่อีกสิ่งที่มาแรงไม่แพ้กันในโลกคือการยืมหรือซื้อเสื้อผ้าในโรงแรมที่ไปพักแทนที่จะแบกกระเป๋าสัมภาระมากๆ เมื่อเดินทาง

จากรายงานกระแสโลก 2016 ที่นาเสนอในงานเวิลด์ ทราเวล มาร์เก็ต เดือน พ.ย. 2559 จัดทำโดย ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า การเติบโตของธุรกิจในรูปแบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (แชริ่ง อีโคโนมี) คือการให้ยืมได้รับการยอมรับมากขึ้นในโลก ธุรกิจโรงแรมพยายามเข้ามาอยู่ในกระแสนี้ด้วยการนาเสนอการยืมสิ่งต่างๆ ในห้องพัก ตอบสนองแนวทางการจ่ายในสิ่งที่ใช้หรือที่ที่ไปเพื่อความสะดวกสบายที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างที่เกิดแล้ว คือ โรงแรมเวสทิน แบรนด์โรงแรมของเครือสตาร์วูดที่ขับเคลื่อนกระแสรักสุขภาพนำเสนอผู้มาพักให้เช่าเสื้อผ้าและรองเท้าวิ่งในราคา 5 เหรียญสหรัฐ หรือ 175 บาท หรือการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพ กลุ่มที่สร้างธุรกิจด้วยเทคโนโลยี อาทิ อันแพ็ก (unPack) ที่นำเสนอระบบกระเป๋าเสื้อผ้าสำหรับผู้เข้าพักโรงแรมหรือผู้เช่าบ้านพักจากแอร์บีเอ็นบีได้ยืม โดยมีแนวคิดเติมเต็มความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ไม่ต้องการจัดกระเป๋าเดินทาง

นอกจากนี้ ยังมีร้านสินค้าแฟชั่น Pimkie ที่เปิดตัวมินิแฟชั่น บาร์ ตามโรงแรมต่างๆ ในฝรั่งเศส นำเสนอเสื้อผ้าที่พร้อมให้ซื้อได้ เช่นเดียวกับสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวที่ถูกวางไว้ในห้องพัก เป็นมินิบาร์ ให้ลูกค้าเลือกซื้อตามที่ต้องการ และโรงแรมเวอร์จิน ในชิคาโก ที่อนุญาตให้ผู้เข้าพักซื้อเสื้อผ้าจากร้านแกปแล้วมีบริการขนส่งเสื้อผ้าเหล่านั้นมาถึงห้องพักในโรงแรม

กลุ่มสำคัญที่นิยมบริการยืมหรือซื้อเสื้อผ้าในโรงแรม คือกลุ่มมิลเลนเนียล เพราะการยืมเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผู้เข้าพักเข้าถึงเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์หรูที่พวกเขาไม่มีกำลังพอจะซื้อเองได้ โดยรูปแบบการยืมเสื้อผ้าจะประสบความสำเร็จในกลุ่มห้องพักระดับกลาง ห้องพักราคาประหยัด และห้องพักส่วนตัวที่ถูกนำมาปล่อยเช่า ส่วนการซื้อเสื้อผ้าที่เน้นเรื่องออกแบบจะเหมาะกับการเจาะกลุ่มผู้เข้าพักในโรงแรมระดับหรู

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า แนวโน้มการเช่าหรือซื้อเสื้อผ้าในโรงแรมไม่น่าจะเป็นไปได้ในไทย เพราะคนที่มาเที่ยวไทยมีวันพักสั้น ส่วนใหญ่พักแค่ 3.5-5 คืน ไม่มีความจำเป็นต้องมาเช่าเสื้อผ้า เพราะสัมภาระไม่ได้หนักมากขนาดที่นามาไม่ไหว เนื่องจากจำนวนวันน้อย จำนวนเสื้อผ้าที่ใช้ก็น้อย อีกทั้งไทยเป็นเมืองร้อน เสื้อผ้าที่ใช้ก็ไม่ได้หนาและหนัก ขณะเดียวกันหากจะซื้ออาจเป็นการไปซื้อตามร้านมากกว่าซื้อกับโรงแรม

เช่นเดียวกับ ไพสิฐ แก่นจันทน์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ กล่าวว่า กระแสเช่าหรือซื้อเสื้อผ้าในโรงแรมคงไม่มาในไทย เพราะตามร้านค้าในไทยก็จำหน่ายเสื้อผ้าราคาไม่ได้แพง ซึ่งที่ผ่านมานักท่องเที่ยวฮ่องกง สิงคโปร์ เวลามาไทยก็นิยมไปเดินตามศูนย์การค้าเพื่อ ช็อปปิ้งเสื้อผ้ายี่ห้อที่มีในไทยแต่ไม่มีในประเทศตัวเองกลับไปอยู่แล้ว ส่วนโรงแรมในไทยยังไม่มีใครมาทำเรื่องการเช่าหรือซื้อเสื้อผ้าในโรงแรม หากมีก็เป็นเพียงการจำหน่ายเสื้อยืดหรือเสื้อโปโลของโรงแรมเป็นที่ระลึก ไม่ได้จำหน่ายเป็นเรื่องราวเพื่อรองรับกลุ่มที่เช่าหรือซื้อเสื้อผ้าในโรงแรม รายได้ที่มาจากเรื่องนี้เป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับรายได้หลักจากห้องพักหรือห้องอาหาร

ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีวาน่า กรุ๊ป ผู้บริหารโรงแรมในภูเก็ตและกระบี่ กล่าวว่า ในต่างประเทศอาจจะมีการให้ยืมหรือซื้อเสื้อผ้าในโรงแรมตามกระแสความต้องการของนักท่องเที่ยว ส่วนในประเทศไทยยังไม่เห็นกระแสนี้เกิดขึ้นในโรงแรม แต่ถ้าเป็นกลุ่มธุรกิจฟิตเนสก็เริ่มเห็นบางรายทำแล้วในการนำเสนอบริการยืมเสื้อผ้าเพื่อออกกำลังกาย

ทั้งนี้ มองว่ากระแสยืมหรือเช่าเสื้อผ้าในต่างประเทศเป็นผลมาจากค่าธรรมเนียมขนส่งสัมภาระน้ำหนักเกินเวลาขึ้นเครื่องบินค่อนข้างแพง เวลาที่ต้องเดินทางไกลๆ แล้วไปประเทศที่ต้องใช้สวม เสื้อผ้าหนาๆ เมื่อบรรจุสัมภาระก็จะมีน้ำหนักเกินกว่าที่สายการบินกำหนด  ดังนั้นจึงพยายามลดภาระในการแบกสัมภาระหนักๆ และการจ่ายค่าธรรมเนียมน้ำหนักที่เกินแพงๆ ไปเช่าหรือซื้อที่โรงแรมที่ไปพักปลายทางดีกว่า

สำหรับในไทยหากกระแสนี้จะเกิดได้คงต้องมาจากผู้เข้าพักเป็นผู้นำเสนอกับทางโรงแรมว่าต้องการให้มีบริการนี้เกิดขึ้น คงไม่ใช่โรงแรมไปเปิดตัวบริการเองโดยที่ยังมองไม่เห็นความต้องการ โดยส่วนหนึ่งที่ยังเชื่อว่าบริการนี้ไม่น่าจะเกิดในไทยก็เพราะเสื้อผ้าตามร้านค้าต่างๆ ในไทยที่จำหน่ายอยู่ก็ไม่ได้มีราคาแพงอยู่แล้ว อีกทั้งก็หาซื้อไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทยังไม่มีแนวคิดทำบริการให้เช่าหรือซื้อเสื้อผ้าในโรงแรม แต่กลับมีอีกแนวคิดหนึ่งคือ การจัดทาโครงการให้ผู้เข้าพักที่ไม่ต้องการนำเสื้อผ้ากลับไปเพราะสัมภาระน้ำหนักเกิน นำมาส่งต่อให้โรงแรมนำไปทำบุญบริจาคต่อ คาดว่าจะเปิดตัวแคมเปญนี้ปีหน้า

ชัชวาล ศูรางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาดและพัฒนาแบรนด์  เซเรนนาต้า โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท กรุ๊ป กล่าวว่า กระแสการเช่าหรือซื้อเสื้อผ้าในโรงแรมที่เกิดขึ้นน่าจะเหมาะกับตลาดยุโรป แต่กับคนเอเชียที่ต้องการถ่ายรูปหลายอิริยาบถเวลามาเที่ยวและไม่ได้พักระยะยาว เวลาเดินทางจัดสัมภาระไม่ได้หนักมากก็คงไม่ไปเช่าหรือยืม เพราะต้องการนำชุดหลากหลายรูปแบบของตัวเองไปด้วยเพื่อถ่ายรูปให้ดูดีที่สุด

ดูแนวโน้มแล้วคงไม่เห็นกระแสนี้เกิดในไทยเร็วๆ นี้ ยกเว้นมีสตาร์ทอัพรายไหนที่เกิดความคิดสร้างสรรค์น่าสนใจ ปรับกระแสนี้มาลองเปิดตลาดในไทย