posttoday

ลุ้นโซลาร์รูฟเสรี ดันครัวเรือนติดตั้ง

27 สิงหาคม 2558

เมื่อพลังงานแสงอาทิตย์มาแรง จึงถือเป็นอีกโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจทีเดียว

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

พลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมากในเวลานี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่กำลังสนใจติดตั้งหรือแม้แต่คนทั่วไปที่เริ่มสนใจติดตั้งที่บ้าน แต่เนื่องจากยังขาดความรู้ความเข้าใจและการสนับสนุน ทำให้พลังงานทางเลือกประเภทนี้ยังเติบโตไม่เต็มที่

ภูวดล สุนทรวิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันเอดิสัน เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) ในฐานะเลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย เปิดเผยว่า ตลาดใหญ่ที่สุดของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์คือภาคครัวเรือน โดยนักวิเคราะห์พลังงานประเมินว่า 15 ปีข้างหน้า การมีพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) จะไม่ใช่เรื่องยากต่อไป เปรียบได้กับไมโครเวฟท์ที่แต่ละบ้านจะมี ขณะที่ในไทยปัจจุบันการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ต้องทำสัญญาขายให้การไฟฟ้า แต่สภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงานกำลังผลักดันให้เกิดโซลาร์รูฟเสรี ไม่กำหนดว่าต้องขายให้การไฟฟ้า

ทั้งนี้ หากผลักดันสำเร็จจะทำให้ครัวเรือนมีความต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ ใน 15 ปี ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายรายเตรียมพร้อมสร้างโครงการในอนาคตที่รองรับการติดตั้งโซลาร์รูฟ ความต้องการนี้ไม่รวมการผลิตป้อนให้การไฟฟ้าที่ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) ฉบับใหม่ของรัฐ มีความต้องการรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มจาก 4,000 เมกะวัตต์ เป็น 6,000 เมกะวัตต์ ใน 20 ปี แต่สมาคมมองว่าไม่เกิน 5 ปี การรับซื้อก็น่าจะเต็ม 6,000 เมกะวัตต์แล้ว

นอกจากนี้ ทันทีที่โซลาร์รูฟเสรีเกิดจะเกิดกระแสลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ภาคพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ในไทยสอดคล้องกับทั่วโลก เป็นการลงทุนเพื่อขายตรงให้ผู้ใช้งาน เช่น นิคมอุตสาหกรรม ทำให้ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์น่าจะเป็นขาขึ้นไปอีก 10 ปี ยิ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนรวดเร็ว หากอนาคตมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้ระบบการส่งไฟมีเสถียรภาพมากขึ้น แก้ไขจุดอ่อนที่พลังงานแสงอาทิตย์มีอยู่ก็จะทำให้ความต้องการติดตั้งเพิ่มขึ้นรวดเร็ว และอนาคตสถาปนิกที่ออกแบบบ้านหรืออาคารต่างๆ ก็จะเริ่มให้ความสำคัญออกแบบอาคารหรือบ้านเพื่อรองรับให้ติดตั้งโซลาร์รูฟได้

สำหรับอุปสรรคการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ปัจจุบัน คือ การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ทุกวันนี้ยังต้องทำสัญญาซื้อขายให้การไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดด้านการขออนุญาต เพราะมีข้อกำหนดว่าหากจะติดตั้งโซลาร์รูฟต้องขอใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร (อ.1) กับพื้นที่ เพราะรัฐตีความว่าการติดตั้งโซลาร์รูฟเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างบ้านหรืออาคาร ไม่ใช่การซ่อมหลังคาบ้านทั่วไป หากขจัดอุปสรรคข้อนี้ได้ รวมทั้งเพิ่มคำนิยามของโซลาร์รูฟว่าไม่จำเป็นต้องติดตั้งบนหลังคาบ้าน อาจตั้งบนเพิงในสนามหญ้าในโรงรถก็ได้ จะทำให้จำนวนผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟเพิ่มขึ้นรวดเร็ว

ไม่เพียงเท่านี้ การติดตั้งโซลาร์รูฟที่บ้านคนทั่วไปก็มีอุปสรรคจากหลังคาเดิมไม่รองรับ เช่น เป็นกระเบื้อง ทำให้คนทั่วไปกลัวว่าจะเกิดปัญหากระเบื้องแตก น้ำรั่ว หากเป็นไปได้สถาปนิกคงต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบหลังคาบ้านมากขึ้น หากเป็นกระเบื้องก็ต้องเป็นกระเบื้องที่ติดซ้อนกันได้ หรือทางที่ดีที่สุดควรเป็นหลังคาเรียบ

ภูวดล กล่าวว่า โซลาร์รูฟสำหรับผลิตไฟ 1 กิโลวัตต์ มีต้นทุนติดตั้ง 6-7 หมื่นบาท บ้านทั่วไปติดตั้งโซลาร์รูฟได้ 3-5 กิโลวัตต์ ใช้พื้นที่ติดตั้ง 30 ตารางเมตรขึ้นไป งบติดตั้ง 2-3.5 แสนบาท ซึ่งไฟเท่านี้เพียงพอป้อนบ้าน 20-30% ของการใช้ไฟทั้งหมดในบ้าน และจุดคุ้มทุนการติดตั้งโซลาร์รูฟคือ 9 ปี อีกทั้งสถาบันการเงินยังไม่สนับสนุนมาก หากคนทั่วไปขอสินเชื่อเพื่อติดตั้งตามบ้านก็ให้เวลาการผ่อนชำระ 1-2 ปีเท่านั้น ทำให้ความนิยมกลุ่มคนทั่วไปยังไม่แพร่หลาย แต่ทิศทางต้นทุนติดตั้งโซลาร์รูฟลด 5% ต่อปี และค่าไฟในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็อาจทำให้คนสนใจเพิ่ม

สืบพงษ์ สมิตทันต์ ผู้อำนวยการกกลุ่มโครงการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่นส์ ออกาไนเซอร์ กล่าวว่า ได้ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย และสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย จัดงานพีอีเอ พรีเซนต์ อีโคไลท์เทค เอเชีย 2015 ครั้งที่ 3 วันที่ 19-21 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีประหยัดพลังงานเพื่อผู้ประกอบการ ครั้งนี้เพิ่มงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านระบบทำความเย็นและปรับอากาศ กับงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์ คาดว่ามีผู้ร่วมงาน 7,000 คน เงินสะพัด 350 ล้านบาท

เมื่อพลังงานแสงอาทิตย์มาแรง จึงถือเป็นอีกโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจทีเดียว