posttoday

คสช.ปลดล็อกใช้ที่ดิน'อีอีซี' เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน

25 ตุลาคม 2560

คสช.เห็นชอบข้อกำหนดการใช้ที่ดินอีอีซี หวังสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนระหว่างกฎหมายใหม่ยังไม่มีผลบังคับ ไฟเขียวมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนเปิดสอนในไทย

คสช.เห็นชอบข้อกำหนดการใช้ที่ดินอีอีซี หวังสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนระหว่างกฎหมายใหม่ยังไม่มีผลบังคับ ไฟเขียวมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนเปิดสอนในไทย

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2560 ได้เห็นชอบข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มเติมในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ออกประกาศไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ เป็นการวางแผนการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และศักยภาพของที่ดินตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือต้องมีการวางผังเมืองและพัฒนาเมืองใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่อีอีซีให้สอดคล้องกันและต้องแตกต่างไปจากผังเมืองในพื้นที่อื่น

สำหรับข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อีอีซีดังกล่าว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสัปดาห์หน้าเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการเร่งรัดเรื่องนี้ในระหว่างรอการพิจารณาของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีก 5-6 เดือน จะล่าช้าเกินไป แต่หากออกข้อกำหนดภายใต้คำสั่งตามมาตรา 44 ในเรื่องนี้จะทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่อีอีซีจะสามารถเตรียมการและวางข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ในทันทีและเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว พร้อมในการทำผังเมืองอาจต้องใช้เวลามากกว่า 1-1 ปีครึ่ง

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University : CMU) เข้ามาจัดการศึกษาในประเทศไทยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในรูปแบบสถาบันร่วม (Joint Institute) ภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University)

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลจะเริ่มการประชาสัมพันธ์และมีกำหนดการรับสมัครนักศึกษาระหว่างวันที่ 26 ต.ค.-15 ธ.ค. 2560 และจะเริ่มเปิดปีการศึกษาแรกในปี 2561 ซึ่งจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งแรกที่จะเข้ามาจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรที่สนับสนุนอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และหลังจากจะนี้คาดว่าจะมีสถาบันการศึกษาชั้นนำอีกหลายแห่งตามมา

สำหรับหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลจัดการเรียนการสอนนั้นมี 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ รับนักศึกษา 10 คน ระดับปริญญาโทด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ และระดับปริญญาโทด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ หลักสูตรละ 25 คน ซึ่งสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมเป้าหมายตาม นโยบายของรัฐบาล