posttoday

บิ๊กฉัตรสั่งกรมชลฯรับมืออิทธิพลพายุ "ฮาโตะ"

23 สิงหาคม 2560

รมว.เกษตรฯสั่งกรมชลฯรับมืออิทธิพลพายุฮาโตะ เผยส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้เพิ่มกำลังแรงขึ้น ทำฝนตกเพิ่มภาคเหนือ-อีสาน

รมว.เกษตรฯสั่งกรมชลฯรับมืออิทธิพลพายุฮาโตะ เผยส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้เพิ่มกำลังแรงขึ้น ทำฝนตกเพิ่มภาคเหนือ-อีสาน

พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งให้ทุกหน่วยรวบรวมความเสียหายจากอุทกภัยจากพายุเซินกาและตาลัด  ที่ได้มีการสำรวจในพื้นที่ชัดเจนแล้ว มาหรือในวันศุกร์ เพื่อเตรียมมาตารการช่วยเหลือ   และจากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าพายุโซนร้อนฮาโตะ จะส่งอิทธิพลมีผลให้ในตกชุกในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยคงการช่วยเหลือในพื้นที่อุทกภัยเดิมทั้งลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี โดยคงเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เพื่อช่วยในพื้นที่  

นอกจากนั้นให้กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อรับมือกรณีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางและลุ่มเจ้าพระยา   เพราะหลายฝ่ายกังวลในช่วง ก.ย.- ต.ค. จะมีฝนตกในพื้นที่ใต้เขื่อน    

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าขณะนี้ระดับน้ำในพื้นที่แม่น้ำมูลลดลงจากระดับ1 เมตรครึ่งลดลงเหลือไม่ถึงครึ่งเมตรจากระดับตลิ่งแล้ว แต่ยังมีฝนตกในพื้นที่ทำให้ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง  ซึ่งกรมคาดว่าหากฝนไม่ตกมาเติมมากกว่านี้จะกลับสู่ปกติกในสิ้นเดือนนี้

สำหรับความกังวลว่าน้ำจะท่วมภาคกลางเหมือนปี  2549   นั้น อธิบดีกรมชลฯกล่าวว่า  ยังไม่กังวล เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังต่ำ โดยปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเข้าพระยา ณ  วันที่  23 ส.ค.  2560 อยู่ที่  1,498 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวินาที จากระดับที่รับได้ คือ  3,000-3,500  ลบ.ม.ต่อวินาที    ซึ่งแสดงให้เห็นว่าน้ำเหนือยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ฉะนั้นเฝ้าระวังแต่น้ำฝน ซึ่งยังไม่มีสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังมาก

สำหรับอิทธิพลของพายุโซนร้อนฮาโตะนั้น ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย เนื่องจากพายุดังกล่าวขึ้นที่ฝั่งประเทศจีน แต่จะเกิดอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เพิ่มกำลังแรงขึ้น ทำให้เกิดฝนตกเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันอออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก วันที่ 26 – 27 ส.ค. 60 มีฝนตกกระจาย10 – 35 มม. วันที่ 28 ส.ค. 60  ภาคเหนือ 10-35 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10-60 มม. ภาคตะวันออก 60 – 90 มม.

ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้เตรียมพร้อมรับมือโดยให้โครงการชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิม เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการกำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกับให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด สำหรับพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประจำไว้ในพื้นที่ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชน     

โดยสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,778 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.45 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,498 ลบ.ม./วินาที รับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก รวมประมาณ 287 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ กรมชลประทานจะบริหารน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้เข้าคลองชลประทานให้มากที่สุดตามศักยภาพของพื้นที่ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลลงสู่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 1,500 ลบ.ม./วินาที และมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ อ.บางไทร 1,518 ลบ.ม./วินาที ซึ่งต่ำกว่าความจุที่สามารถรับน้ำได้ถึง 3,500 ลบ.ม./วินาที อย่างไรก็ตามจะใช้ประโยชน์จากประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น และจากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำขณะนี้ ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง