posttoday

เคาะทางคู่บ้านไผ่6.5หมื่นล.

19 สิงหาคม 2560

คมนาคมจ่อชง ครม.โครงการรถไฟทางคู่บ้านไผ่-นครพนม 6.5 หมื่นล้านบาท หลังทบทวนค่าเวนคืน-แผนพัฒนาอสังหาฯ

คมนาคมจ่อชง ครม.โครงการรถไฟทางคู่บ้านไผ่-นครพนม 6.5 หมื่นล้านบาท หลังทบทวนค่าเวนคืน-แผนพัฒนาอสังหาฯ

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รายงานผลการศึกษาพบว่า วงเงินดำเนินโครงการอยู่ที่ 65,738 ล้านบาท โดยขณะนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด รฟท.) แล้วอยู่ระหว่างเสนอมาที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เพื่อขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือน ต.ค.นี้

ทั้งนี้ จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนที่ดิน เพื่อเริ่มต้นตอกเสาเข็มการก่อสร้างในปี 2561 และเปิดให้บริการในปี 2567

ขณะที่ด้านการจัดทำรายงานผล กระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นั้นอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในกลางเดือน ก.ย.

นายสรพงศ์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ รฟท.นำแผนโครงการดังกล่าวกลับไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันเนื่องจากแผนการศึกษาเดิมได้จัดทำมาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว ดังนั้นจึงได้ให้ไปปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งประกอบไปด้วย 1.ตัวเลขวงเงินค่าเวนคืนพื้นที่ และแนวเวนคืนเส้นทางให้เหมาะสม

2.การปรับตัวเลขผลตอบแทนของโครงการและผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจใหม่ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงเนื่องจากตัวเลขดังกล่าวต้องปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนของเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง 3.การพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ ตามเส้นทางรถไฟนั้นต้องพิจารณาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่หลวง ทั้งที่ดินราชพัสดุและที่ดินของราชการ ให้เข้ามาผนวกกับแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวเส้นทาง

สำหรับประเด็นด้านปัญหาน้ำท่วมทุกปีตามแนวเส้นทางการก่อสร้างในขณะนี้นั้น ทางกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ รฟท.ไปศึกษาแนวเส้นทางที่ไม่กีดขวางทางระบายน้ำ พร้อมวางแผนก่อสร้างเพื่อรับมือปัญหาน้ำท่วมในอนาคตเพราะเป็นสิ่งที่กระทรวงให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตามในบางช่วงของแนวเส้นทางรถไฟนั้นจะมีทางยกระดับด้วย

ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม.ประกอบไปด้วย 32 สถานีและลานบรรจุสินค้า 3 แห่ง มีถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในแนวตรง (Overpass) จำนวน 81แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) อีก 245 แห่ง พร้อมรั้วกั้นตลอดสองข้างทาง ตัดผ่านพื้นที่ภาคอีสานรวมทั้งสิ้น 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร นครพนมและสกลนคร

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ประเมินว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการ 12,365 คน/วัน และในปี 2596 จะเพิ่มขึ้นเป็น 26,931 คน/วัน คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 2.63% ต่อปี ขณะเดียวกันในปี 2566 จะมีปริมาณการขนส่งสินค้าจำนวน 8.4 แสนตัน/ปี ในปี 2596 จำนวน 1.60 ล้านตัน/ปี คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 2.16% ต่อปี โดยสินค้าดังกล่าวแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.สินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว น้ำตาล และยางพารา 2.สินค้าปูนซีเมนต์ผง และ 3.สินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ในส่วนของอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ อยู่ที่ 12.05%

ภาพประกอบข่าว