posttoday

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่อเนื่องเดือนที่3เหตุกังวลน้ำท่วม

08 สิงหาคม 2560

ความกังวลน้ำท่วมฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.อยู่ที่ 73.9 ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่3 และต่ำสุดรอบ 7 เดือน คาดน้ำท่วมเสียหาย 9,500-1.5 หมื่นล้านบาท กระทบจีดีพีแค่ 0.03-0.05%

ความกังวลน้ำท่วมฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.อยู่ที่ 73.9 ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่3 และต่ำสุดรอบ 7 เดือน คาดน้ำท่วมเสียหาย 9,500-1.5 หมื่นล้านบาท กระทบจีดีพีแค่ 0.03-0.05%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.2560 อยู่ที่ 73.9 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่3 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน และราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรที่แม้จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดลดลงและเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยอาจยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดไว้

ขณะเดียวกันค่าดัชนีตัวอื่นๆ ก็มีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่3 เช่นเดียวกัน เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมลดลงมาอยู่ที่ 62.2 จากเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 63.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำลดลงจาก 70.0 มาอยู่ที่ 69.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตลดจาก 91.5 มาอยู่ที่ 90.4

"สาเหตุที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเดือนนี้ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่3 ส่วนหนึ่งอาจมาจากความบังเอิญในสถานการณ์ความกังวลน้ำท่วมที่เกิดขึ้น จึงทำให้กำลังซื้อในฐานรากซึมตัวลง จึงเป็นตัวที่น่ากังวลว่าในระบบเศรษฐกิจฐานรากขาดแรงเหวี่ยงที่สำคัญ ทำให้ในมุมมองของผู้บริโภคตั้งแต่ชนกลางลงมามองว่ายังไม่ฟื้นตัว สวนทางกับเศรษฐกิจมหภาคที่ภาพออกมาว่า มีการฟื้นตัวชัดเจน" นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้รัฐบาลควรเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และเร่งรัดการลงทุนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก  เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายนั้นปรับตัวดีขึ้น

สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานนั้น ทางศูนย์ฯได้ประเมินความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานเบื้องต้นไว้ที่ 9,574.80 ล้านบาท แยกเป็นความเสียหายภาคเกษตร (พืชไร่ พืชสวน และปศุสัตว์) 4,774.28 ล้านบาท ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม 3,434.27 ล้านบาท และภาคโครงสร้างพื้นฐาน (ถนนหนทาง สะพาน วัดและยานพาหนะ) 1,366.25 ล้านบาท ซึ่งประเมินแล้วความเสียหายน่าจะอยู่ในกรอบ 9,500-1.5 หมื่นล้านบาท กระทบต่อจีดีพีเพียง 0.03-0.05%

ด้านผลสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนเกี่ยวกับวันแม่จาก 1,229 กลุ่มตัวอย่าง คาดว่า วันแม่ปีนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 1.3 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.7%  การขยายตัวยังต่ำกว่า3% สะท้อนถึงความผิดปกติ แสดงให้เห็นถึงว่า คนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งสอดคล้องกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง