posttoday

ชงแก้กฎหมายเพิ่มโทษรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

31 กรกฎาคม 2560

คมนาคมชงแก้กฎหมายเพิ่มโทษรถบรรทุกน้ำหนักเกินหลังสูญเงินซ่อมถนนปีละกว่า 3 หมื่นล้าน

คมนาคมชงแก้กฎหมายเพิ่มโทษรถบรรทุกน้ำหนักเกินหลังสูญเงินซ่อมถนนปีละกว่า 3 หมื่นล้าน

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวทางการแก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินว่า กรมทางหลวง(ทล.) เตรียมว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาวางแผนแก้ปัญหาเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน คาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาในเดือนเม.ย.2561 โดยเฉพาะประเด็นด้านกฎหมายและการปรับโครงสร้างหน่วยงานที่กำกับดูแลให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงต้องร่วมหารือกันทั้งกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท(ทช.) กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) และองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด หลังจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุป และเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฏหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงการแก้ไขบทลงโทษอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งรายใดกระทำผิดและถูกศาลพิพากษาฏีกาสิ้นสุดขอให้ส่งรายชื่อบริษัทผู้ประกอบการมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาการต่อใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตการขนส่งรถโดยสาร โดยเฉพาะป้ายเหลือง ทั้งรถประจำทางและไม่ประจำทาง

"ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือกับภาคเอกชนทั้งผู้ประกอบการขนส่ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) หอการค้าไทย จากนั้นจะจัดให้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) อย่างเป็นทางการเพื่อจัดระเบียบภาคบรรทุกขนส่งให้ไม่ทำสิ่งที่ผิดกฎระเบียบ" นายพีระพล กล่าว 

นายพิศักดิ์ จิตวิระยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ได้สั่งแขวงทั้งหมด 76 แห่งทั่วประเทศจัดหน่วยเคลื่อนที่ตรวจสอบรถบรรทุกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากได้ข้อมูลเบาะแสจากอาสาสมัครทช.และประชาชนก็จะร่วมกับตำรวจ ทหาร และขนส่งช่วยกับตรวจสอบและจับกุมรถบรรทุกที่กระทำผิดกฎหมายทันที่ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีงบประมาณได้จัดสรรงบซ่อมแซม และปรับปรุงถนนเป็นเงิน 12,000 ล้านบาท แต่เป็นงบที่ใช้เฉพาะตัดหญ้า บำรุงสายทาง หลุมบ่อปีละ 1,400 ล้านบาท ส่วนสถิติการจับกุมรถที่น้ำหนักเกินในเดือนต.ค. 59 ถึงมิ.ย. 60 มีจำนวน 102 คันจากจำนวนรถที่ชั่งน้ำหนัก 14,462 คัน ลดลง 18.63% หากเทียบกับต.ค.58ถึงมิ.ย. 59 ที่มีรถบรรทุกน้ำหนักเกิน 121 คัน จากรถที่ชั่งน้ำหนัก 8,658 คัน โดยขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมมากสุด รองลงมาคือสินค้าเกษตร

นายปราบพล โล่วีระ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า  ในช่วงเดือนต.ค.59-มิ.ย.60 ทล.จับรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ 3,200 คัน จากปี 59 อยู่ที่ 1,200-1,500 คันต่อปี การกระทำผิดส่วนใหญ่มาจากการขนวัสดุก่อสร้าง รองลงมาคือสินค้าเกษตร และในแต่ละปีทล.ต้องจัดสรรงบซ่อมบำรุงทางประมาณ 17,000-18,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปกติการซ่อมบำรุงทางจะใช้งานได้ 7 ปี แต่รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 5 ตัน การใช้งานถนนจะลดลงเหลือเพียง 3 ปีครึ่งเท่านั้นและทำให้แต่ละปีต้องจัดสรรงบไปซ่อมแซมเป็นจำนวนมาก

"ต้องการให้เพิ่มโทษผู้กระทำผิด เพราะโทษปัจจุบันจำคุก 6 เดือนและปรับ 10,000 บาทถือว่าน้อยมากหากเทียบกับถนนที่เสียหาย และขอให้พนักงานทางหลวงมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดำเนินการกับผู้กระทำผิดด้วยการปรับได้ทันที แต่จะต้องไม่มีการจำคุก เพราะเรื่องจำคุกเกี่ยวข้องกับอัยการและตำรวจ ส่วนอัตราค่าปรับอายากให้เป็นอัตราก้าวหน้า พร้อมทั้งนำระบบตรวจจับด้วยอิเลคทรอนิกส์มาใช้แทนเครื่องชั่งน้ำหนักในปัจจุบัน เพราะแต่ละหน่วยงานมีข้อจำกัดด้านบุคลากร โดยเรื่องนี้ต้องรอผลการศึกษาจากที่ปรึกษาก่อน หลังจากนั้นจะหารือในที่ประชุมคณะกรรมการทางหลวงเพื่อหาข้อสรุปก่อนที่จะแก้กฏหมายอย่างเป็นทางการต่อไป"นายปราบพลกล่าว

นายวิศว์ รัตนโชติ วิศวกรใหญ่ด้านบำรุงรักษาทางและสะพาน กรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาไว้ 2 แนวทางคือระยะสั้นรถขนส่งสินค้าที่ศาลตัดสินคดีว่าผิดพรบ.ทางหลวงต้องส่งเรื่องไปที่ขบ. เพื่อขอเพิกถอนหรือชะลอต่อใบอนุญาตกับผู้ประกอบการรายนั้น ๆ ทันที ส่วนการเอาผิดผู้กระทำความผิดให้ครอบคลุมไปถึงผู้ใช้และผู้ว่าจ้างด้วยตามกฏหมายอาญา จากเดิมที่จะจับกุมเฉพาะผู้ขับขี่ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้นได้เสนอโทษปรับให้เป็นอัตราก้าวหน้า เพื่อความชัดเจนและไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานใช้วิจารณญาณในการตัดสิน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องรับผลประโยชน์ ขณะเดียวกันขอให้เจ้าหน้าที่ของทช.มีอำนาจเรียกตรวจใบกำกับขนส่งสินค้าเหมือนกับขบ.จะทำให้มีความรวดเร็วในการทำงาน

นอกจากนี้ได้ขอให้ที่ปรึกษาของทล.ช่วยศึกษาผลดีและผลเสียของของการให้รถวิ่งผ่านเครื่องชั่งตรวจสอบน้ำหนักด้วยว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และระบบไหนที่มีความเหมาะสม และต้องปรับปรุงกฎหมายตรงจุดไหน เพราะปัจจุบันการตรวจรถจะต้องจอดสนิทก่อนขึ้นชั่ง

รายงานข่าวแจ้งว่า รถบรรทุก 10 ล้อน้ำหนักต้องไม่เกิน 25 ตัน รถบรรทุก 4 ล้อต้องไม่เกิน 9.5 ตัน และรถบรรทุก 6 ล้อต้องไม่เกิน 15 ตัน ส่วนรถพ่วงจะแบ่งประเภทในแต่ละรถที่มีเพลาและล้อแตกต่างกัน เช่น 6 เพลา 22 ล้อ น้ำหนักไม่เกิน 50.5 ตัน เป็นต้น