posttoday

คมนาคมชงครม.เร่งผลิตบุคลากรรถไฟหวั่นขาดแคลน

27 กรกฎาคม 2560

คมนาคม หวั่นขาดแคลนบุคลากรรถไฟ 2 หมื่นคน เร่งตั้งสถาบันรางอาเซียน ชงครม.ภายในปีนี้ ด้านโรงเรียนรถไฟเตรียมลงทุนหมื่นล้าน ปั้นบุคลากรตั้งรับวิกฤตขาดแคลน

คมนาคม หวั่นขาดแคลนบุคลากรรถไฟ 2 หมื่นคน เร่งตั้งสถาบันรางอาเซียน ชงครม.ภายในปีนี้  ด้านโรงเรียนรถไฟเตรียมลงทุนหมื่นล้าน ปั้นบุคลากรตั้งรับวิกฤตขาดแคลน

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.กระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่าปัจจุบันวงการรถไฟไทยกำลังเข้าสู่สภาวะขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก สุ่มเสี่ยงต่อการรองรับโครงการระบบรางในอนาคตทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าภูมิภาค คาดการณ์ว่าในอีก 4 ปีประเทศไทยจะต้องการบุคลากรรถไฟราว 30,000 คน จากปัจจุบันมีพนักงานเพียง 11,000 คน เท่ากับว่าขาดแคลนอยู่เกือบ 20,000 คน ดังนั้นตนจึงสั่งการให้รฟท.ไปจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการสองด้านได้แก่ 1.ปรับอัตราการรับตรงบุคลากรจากโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟจากเดิมอยู่ที่ราว 5% ของจำนวนพนักงานเกษียนอายุราว 400-500 คนต่อปีหรือปีละไม่เกิน 50 คนให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ผ่านการแก้มติครม.เดิม 2.จัดทำแนวทางพัฒนาศูนย์ผลิตบุคลากรระบบราง (Excellent center) ให้กับโรงเรียนวิศวรรมรถไฟ โดยวางกรอบเวลาให้เสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) รฟท.ภายในสามเดือนก่อนเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมและส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้ เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของชาติ


"เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ผมเองสนับสนุนเต็มที่เช่นเดียวกับท่านผู้ว่าการรฟท.เพราะเป็นการวางรากฐานให้อุตสาหกรรมรถไฟไทยรวมถึงต่อยอดคุณภาพบุคลากรให้ไปถึงระดับภูมิภาค" นายพิชิตกล่าว

ด้านนางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการ กลุ่มยุทธศาสตร์ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการของ รฟท. ตั้งเป้าไว้ว่า จะขยายกำลังเดินรถ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ดังนั้นจึงมีแผนเพิ่มจำนวนรถไฟเป็น 450 ขบวน จากเดิม 250 ขบวน จึงต้องการบุคลากรด้านรถไฟอีกจำนวนมาก เพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ระยะที่ 1 จำนวน 5 เส้นทาง และโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 อีก 9 เส้นทาง เนื่องจากปัจจุบัน รฟท. ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรในการทำงานและมีไม่เพียงพอ ทำให้เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายต้องทำงาน 12-16 ชม.ต่อวันจากปกติต้องทำงาน 8 ชม.ต่อวัน ทั้งนี้ รฟท. ประสบปัญหามีการหมุนเวียนบุคลากรที่มีการลาออกไปทำงานที่อื่น โดยเฉพาะช่วงที่มีการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายใหม่ๆ

ขณะที่นายกำธร ดีแท้ หัวหน้างานกำหนดหลักสูตรและโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ (วรฟ.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาการจัดตั้งสถาบันดังกล่าว คาดว่าจะได้ที่ปรึกษาเดือน ส.ค. นี้ หลังจากได้ที่ปรึกษาแล้วลงนามสัญญาจ้าง 300 วันหรือ 10 เดือน โดยที่ปรึกษาต้องไปศึกษาเกี่ยวกับรายะเอียดสถาบันฯ อาทิ แบบอาคารเรียน หลักสูตร พื้นที่ปฏิบัติการทางด้านการเดินรถไฟ (Track Training) ศูนย์ซ่อมบำรุง ห้องทดลองอาณัติสัญญาณและ อุโมงค์รถไฟจำลองเป็นต้น คาดว่าจะใช้พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ ซึ่งเป็นพิ้นที่ของ รฟท. โดยใช้วงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ผลการศึกษาแล้วเสร็จ มิ.ย.61 หลังจากนั้นนำผลการศึกษา เสนอ รฟท. เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป อย่างไรก็ตามหาก รฟท.อนุมัติ แล้วทางโรงเรียนดำเนินการดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลา 5 ปีแล้วเสร็จ เพื่อเตรียมความพร้อมยกระดับสถาบันดังกล่าวให้เป็นศูนย์กลางผลิตบุคลากรด้านรถไฟแห่งอาเซียน อาทิ ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม โดยอาศัยความได้เปรียบจากความเป็นศูนย์กลางอาเซียนของไทย