posttoday

จี้กทม.ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้แบริ่ง-สมุทรปราการ

24 กรกฎาคม 2560

จี้กทม.ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการ 1.5 หมื่นล้าน ย้ำรถไฟฟ้าภูมิภาคท้องถิ่นต้องร่วมลงขัน-ลุยรถไฟฟ้าเฟส2 ปั้นเมืองใหม่รอบปริมณฑล

จี้กทม.ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการ 1.5 หมื่นล้าน ย้ำรถไฟฟ้าภูมิภาคท้องถิ่นต้องร่วมลงขัน-ลุยรถไฟฟ้าเฟส2 ปั้นเมืองใหม่รอบปริมณฑล

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและ แผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติให้เร่งรัดเรื่องการโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสายสีเขียวใต้ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถนั้นคจร.ได้สั่งการให้ไปเร่งเจรจากรอบวงเงินการลงทุนโดยกทม.ต้องมีส่วนลงทุนในโครงการด้วย ดังนั้นรัฐบาลจึงปฏิเสธที่จะจ่ายค่าหนี้สินและทรัพย์สินทั้งหมดให้กทม.ซึ่งมูลค่าสายสีเขียวเหนือ-ใต้รวมกัน 60,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลยังไม่ปิดโอกาสที่จะช่วยเหลือโดยอาจแบ่งสัดส่วนลงทุนแบบร่วมทุน เช่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยอาจเสนอให้รัฐบาลลงทุนครึ่งนึงของวงเงินโครงการ และให้กทม.ลงทุนอีกครึ่งหนึ่งหรือราว 15,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามการให้ส่วนท้องถิ่นอย่างกทม.เข้ามาลงทุนโครงการรถไฟฟ้าในพื้นที่เป็นนโยบายในการลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ ดังนั้นโครงการรถไฟฟ้าภูมิภาคอาทิ แทรมภูเก็ต แทรมเชียงใหม่ รถไฟฟ้าหาดใหญ่ รถไฟฟ้าขอนแก่น นั้นจะต้องเป็นแบบพีพีพีโดยภาคท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมลงทุนในทุกโครงการ ทั้งนี้คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเร่งหารือข้อสรุปรถไฟฟ้าสายสีเขียวเรื่องสัดส่วนลงทุนให้ชัดเจนว่าจะออกมาแบบใดเพื่อเสนอ คจร.ในการประชุมครั้งต่อไปช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะสายสีเขียวใต้ที่การก่อสร้างใกล้ดำเนินการแล้วเสร็จเรียบร้อยแต่ยังไม่ได้ตัวผู้ดำเนินการ

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า ส่วนด้านการศึกษาแผนเส้นทางรถไฟฟ้าเฟสที่2 ใน10เส้นทางใหม่นั้น ขณะนี้ทางไจก้าอยู่ระหว่างศึกษาเส้นทางตามกรอบเวลา 2 ปีควบคู่ไปกับขอจัดสรรงบประมาณค่าจ้างศึกษาเส้นทางจากรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเบื้องต้นจะเน้นพัฒนาเส้นทางฟีดเดอร์เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายหลัก ตลอดจนการขยายเส้นทางเดิมเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองใหม่รอบปริมณฑลผ่านการใช้รถไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นการลงทุนตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า อาทิเส้นทาง กรุงเทพ-นครปฐม กรุงเทพ-นครนายก และกรุงเทพ-สมุทรสาคร เป็นต้น ตลอดจนเน้นเพิ่มเส้นทางใหม่เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางทิศตะวันตก-ตะวันออก (East-West) ของกรุงเทพมหานครอีกด้วย