posttoday

องค์กรชุมชนอีสานดันแผนสร้างเศรษฐกิจทุน

13 กรกฎาคม 2560

องค์กรชุมชนอีสานร่วมบริษัทประชารัฐฯ ดันแผนยุทธศาสตร์สร้างเศรษฐกิจทุนชุมชน

องค์กรชุมชนอีสานร่วมบริษัทประชารัฐฯ ดันแผนยุทธศาสตร์สร้างเศรษฐกิจทุนชุมชน

นายพิรุณ กองแปง หัวหน้ากลุ่มจังหวัด สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เปิดเผยว่า กล่าวว่า จากผลการประชุมอนุกรรมการเศรษฐกิจและทุนชุมชน ซึ่งวิเคราะห์สถานการณ์การทำงานของขบวนองค์กรชุมชนกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จำกัด เมื่อวันที่ 2มิถุนายน 2560 โดยมีเป้าหมายการเชื่อมโยงภาคีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุนชุมชนพี่น้อง ในชุมชนภาคอีสาน เชิงนโยบาย ปี 2560-2561 นั้น  คณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของภาคอีสาน จะร่วมประชุมวางแผนการทำงานในอีก 3 เดือนที่เหลือ เพื่อหนุนเสริมพื้นที่ให้ชัดเจนและให้สามารถเกิดการเชื่อมโยงพื้นที่รูปธรรม (Cluster) โดยจะนำพื้นที่ 120ตำบล ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนพื้นที่รูปธรรมเศรษฐกิจและทุนชุมชน และอีก 20 ตำบล ที่ไม่สามารถเสนอโครงการได้ทันในปีงบประมาณ 2560 นำมาถอดบทเรียนรวบรวมชุดองค์ความรู้การทำงานพื้นที่รูปธรรมเป็นเอกสารเผยแพร่และการพัฒนาพื้นที่ต่อยอดในปี 2561 โดยงบประมาณอีก 1,000,000 บาท เฉลี่ยจังหวัดละ 50,000 บาทจะนำไปดำเนินการดังนี้

1.จัดเวทีระดับตำบลถอดชุดความรู้ 120 ตำบล โดยนำนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมสรุปผลการดำเนินงานและเผยแพร่องค์ความรู้ การขับเคลื่อนพื้นที่รูปธรรมและการเชื่อโยงขบวนองค์กรชุมชนร่วมกับประชารัฐสามัคคี ระดับจังหวัด

2.ผลักดันเชื่อมโยงคลัสเตอร์ในเชิงนโยบาย ทั้งนี้ พื้นที่รูปธรรมเศรษฐกิจและทุนอีสาน ได้แบ่งเป็น 5 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ 1)กลุ่มวัฒนธรรมภูผาภาษา ขับเคลื่อนคลัสเตอร์ท่องเที่ยวโดยชุมชน 47 ตำบล และวิสาหกิจชุมชน 21 ตำบล รวม 68ตำบล 2)กลุ่มสนุก ขับเคลื่อนคลัสเตอร์ท่องเที่ยวโดยชุมชน 17 ตำบล และเกษตรอินทรีย์ 28 ตำบล รวม 45 ตำบล 3)กลุ่มอำนาจราชธานีศรีโสธร ขับเคลื่อนคลัสเตอร์ท่องเที่ยวโดยชุมชน 20 ตำบล และเกษตรอินทรีย์ 17 ตำบล รวม 37 ตำบล 4)กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ ขับเคลื่อนคลัสเตอร์ข้าวอินทรีย์ชุมชน 14 ตำบล และวิสาหกิจชุมชน 13  ตำบล รวม 27 ตำบล และ 5)กลุ่มนครชัยบุรินทร์ ขับเคลื่อนคลัสเตอร์ท่องเที่ยวโดยชุมชน 34 ตำบล และข้าวอินทรีย์ 3 ตำบล รวม 37 ตำบล รวมทั้งสิ้น 214 ตำบล เป็นพื้นที่ทั้งที่ได้รับงบขับเคลื่อนตำบลละ 30,000 บาท

นายพิรุณ กล่าวว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ เกิดการเชื่อมโยงขบวนเศรษฐกิจและทุนชุมชนระดับภาคไปเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีประชารัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบหุ้นส่วนการพัฒนาทั้ง 20 จังหวัด ภาคอีสานสู่การทำงานประสานพลังพัฒนาทุกระดับ
เกิดการเชื่อมโยงพื้นที่รูปธรรม ระดับจังหวัดและภูมินิเวศน์ ทั้งเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ นำไปสู่การผลักดันนโยบายการเปลี่ยนแปลงขบวนองค์กรชุมชนระดับตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด และเกิดชุดองค์ความรู้ตามประเด็น อย่างน้อย 5 ประเด็น อาทิ ประเด็นการจัดการเกษตรอินทรีย์ ประเด็นองค์กรด้านสถาบันการเงินชุมชน ประเด็นด้านการทำนาข้าวอินทรีย์ ประเด็นด้านวิสาหกิจชุมชน และประเด็นด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน