posttoday

แอร์พอร์ตลิงค์ยอดโต12% เผย5เดือนทำรายได้300ล้าน

26 มิถุนายน 2560

แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ระบุ 5 เดือน ผลประกอบการโต 12% มูลค่า 300 ล้าน หลังคนแห่ใช้ต่อวัน 6.5 หมื่นคน เพิ่ม 10%

แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ระบุ 5 เดือน ผลประกอบการโต 12% มูลค่า 300 ล้าน หลังคนแห่ใช้ต่อวัน 6.5 หมื่นคน เพิ่ม 10%

นายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ เปิดเผยว่า ขณะนี้รายได้ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) 2560 มีผลประกอบการมูลค่ารวม 300 ล้านบาท หรือมีรายรับต่อวันกว่า 2 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 12% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น โดยขยายตัวเพิ่มมากกว่า 10%

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างปรับปรุงขบวนรถ (Overhual) ด้วยการเปลี่ยนตู้ขนสัมภาระของรถไฟฟ้าทั้ง 4 ขบวนมาเป็นตู้โดยสาร ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 9 หมื่นคน คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ พร้อมกับปรับความถี่การเดินรถเพิ่มขึ้นแบบเต็มศักยภาพ (Maximum) เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารและลดปริมาณความแออัดบนชานชาลา โดยจะปรับความถี่การเดินรถในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเป็น 8 นาที/ขบวน จากเดิมอยู่ที่ 10 นาที/ขบวน และปรับความเร็วการเดินรถในเวลาปกติเป็น 10 นาที/ขบวน จากเดิมอยู่ที่ 12 นาที/ขบวน

“ปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 6.5 หมื่นคน และมีปริมาณผู้โดยสารสูงสุดอยู่ที่ 7.3 หมื่นคน/วัน ซึ่งถือว่าตัวเลขเติบโตมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับปีแรกที่เปิดให้บริการซึ่งมีผู้โดยสารอยู่ที่ 3 หมื่นคน” นายวิสุทธิ์ กล่าว

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. กล่าวว่า แอร์พอร์ตลิงค์เตรียมเปิดประมูลโครงการติดตั้งและเคลื่อนย้ายตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารจำนวน 100 ตู้ วงเงิน 24 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารตลอดจนลดความแออัดในห้องขายตั๋วโดยสาร ซึ่งปัจจุบันร่างทีโออาร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลได้เร็วๆ นี้ก่อนลงนามสัญญาภายใน 3 เดือน เพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จช่วงปลายปีนี้

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า กรณีที่มีบางฝ่ายมองว่าการบริหารงานภายในของ รฟท.โดยเฉพาะการประมูลโครงการขนาดใหญ่มักจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นผ่านการล็อกสเปกผู้รับเหมารายเดิมเพียง 4-5 ราย และมีการตั้งราคากลางสูงเกินจริง 20-30% โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ที่รัฐบาลมีเจตนารมณ์ทำให้โครงการมีความโปร่งใส ยืนยันว่าการกำหนดทีโออาร์ของโครงการรถไฟทางคู่ ได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ระเบียบการรถไฟและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

“รฟท.ได้เปิดกว้างให้มีผู้เข้าแข่งขันมากราย มีความโปร่งใส ยุติธรรม และในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน การรับประกันความสำเร็จของผลงาน ทั้งด้านคุณภาพและระยะเวลาในการก่อสร้าง โดยการกำหนดคุณสมบัติและผลงานของผู้รับจ้างให้ใกล้เคียงกับลักษณะของงานที่จะก่อสร้าง ไม่มีการล็อกสเปกให้ผู้รับจ้างแต่อย่างใด”นายอานนท์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทีโออาร์ที่จัดทำขึ้นยังต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย คณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม และคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (Super Board) ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการแอบปรับเปลี่ยนทีโออาร์ให้เกิดการล็อกสเปกผู้รับจ้างตามที่มีการกล่าวหา และจากการประเมินพบว่าในการประกวดราคาหาผู้รับจ้างงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ ที่เป็นงานก่อสร้างคันทางปกติ บริษัทผู้รับจ้างในประเทศไทยมีคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมเสนอราคาในฐานะนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือจะร่วมเป็นบริษัทนำของกิจการร่วมค้าได้ไม่ต่ำกว่า 15 ราย และยังเปิดกว้างให้บริษัทต่างชาติเข้าร่วมเสนอราคาในลักษณะของกิจการร่วมค้าได้อีกด้วย

นายอานนท์ กล่าวว่า การกำหนดราคากลางค่าก่อสร้างของโครงการรถไฟทางคู่นั้น การรถไฟได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของกรมบัญชีกลาง โดยใช้ฐานข้อมูลราคาวัสดุจากประกาศกระทรวงพาณิชย์และการสืบราคาจากบริษัทผู้จำหน่าย ซึ่งได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด อีกทั้งราคากลางดังกล่าวยังต้องผ่านการพิจารณาจากคณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมอีกด้วย