posttoday

เวทีเสวนาจุฬาฯ ชี้ "รถไฟไทยจีน" ขาดแผนงาน ส่อเจ๊งกับเจ๊ง

22 มิถุนายน 2560

นักวิชาการจุฬาฯชี้โครงการรถไฟไทย-จีนขาดยุทธศาสตร์จนกลายเป็นปัญหา ชี้แผนงานเท่าที่ประกาศในปัจจุบัน มีเเต่เจ๊งกับเจ๊ง

นักวิชาการจุฬาฯชี้โครงการรถไฟไทย-จีนขาดยุทธศาสตร์จนกลายเป็นปัญหา ชี้แผนงานเท่าที่ประกาศในปัจจุบัน มีเเต่เจ๊งกับเจ๊ง

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯเสวนา ครั้งที่ 7 เรื่อง “รถไฟไทย – จีน : ใครได้ ใครเสีย” ที่ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอความรู้จากนักวิชาการจุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา จากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินโครงการดังกล่าวให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็ว

รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ บอกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการตลอดเวลาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องความเร็ว ระยะทาง งบประมาณในการลงทุน จนสร้างความสับสนให้กับสังคมเเละผู้ที่ติดตาม รวมถึงโครงการยังขาดการบูรณาการร่วมกับระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการเร่งรัดด้วยกฎหมายมาตรา 44 จนถูกตั้งคำถามในหลากหลายประเด็น

''เราขาดยุทธศาสตร์ในการเดินหน้าโครงการจนกลายเป็นปัญหา อนาคตเส้นทางกรุงเทพ-โคราช จะเกิดการทับซ้อนกันถึงสามระบบ เรียกว่าสำลักโครงการ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รางคู่ เเละมอเตอร์เวย์ ''

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า หากมองในด้านความเหลื่อมล้ำ รถไฟรางคู่ตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าวได้มากกว่า เนื่องจากเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้กับผู้ใช้งานหลากหลายชนชั้นเเละยังมีรูปเเบบการใช้งานที่มากกว่าด้วย ไม่จำกัดเพียงเเค่การโดยสารของคน

''อย่าไปติดภาพว่ารถไฟความเร็วสูงเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าเสมอไป เพราะหากพูดแบบนั้นประเทศลาวคงก้าวหน้ากว่าสหรัฐไปแล้ว''

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ บอกว่า การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงครั้งนี้ คำถามในเเง่เศรษฐศาสตร์ก็คือ คุ้มค่าทางการเงินเเละคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจเเละสังคมหรือไม่  หากดูความล้มเหลวของการบริหารรถไฟฟ้าแอร์ พอร์ต เรล ลิงก์ ที่นำไปสู่การซ่อมบำรุงที่เป็นปัญหา เเละ สถานการณ์จำนวนผู้โดยสารที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงกำลังประสบมาเป็นบทเรียนเเละมองในภาพใหญ่ จะพบว่า รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-โคราช เเทบไม่มีทางประสบความสำเร็จ

''จากแผนงานเท่าที่ประกาศในปัจจุบัน มีเเต่เจ๊งกับเจ๊ง ไปถึงโคราชยังไม่ได้คิดว่าจะไปที่อื่นต่อยังไง ไม่มีระบบสาธารณะภายในท้องถิ่นรองรับเพิ่มเติม''

รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า การดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ เรากำลังทำอะไรเพื่ออนาคต เพิ่มศักยภาพเเละการเเข่งขันให้ดีขึ้นหรือไม่ หรือเป็นการเพิ่มภาระจากการผูกขาดระบบเเละไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจนเกิดปัญหาต่อเนื่องในอนาคต

ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ บอกว่า รถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการที่จีนตั้งความหวังเเละเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนาในประเทศที่มีขนาดใหญ่อย่างจีนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเเละการเชื่อมต่อของผู้คนเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตในการเดินทาง เเต่สำหรับประเทศไทย ด้วยขนาดพื้นที่เเละพฤติกรรมการเดินทางที่ผ่านมา รถไฟความเร็วสูงไม่จำเป็นเร่งด่วนเท่ากับการเร่งพัฒนาระบบรางคู่ ขณะที่ในเเง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คิดว่าไทยมีสิทธิปฏิเสธเเละไม่จำเป็นต้องซื้อโครงการรถไฟจากจีน

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเลือกที่จะเดินหน้าโครงการร่วมกับจีน จำเป็นต้องคำนึงเเละระมัดระวังในเรื่องการทำสัญญาต่างๆ ให้ละเอียดรอบคอบ เนื่องจากจีนมีประวัติการเปลี่ยนแปลงเเละไม่ปฏิบัติตามสัญญาบ่อยครั้ง

''สัญญาต้องเคลียร์ ชัดเจนลงลายละเอียดเเม่นยำ เเสดงถึงควมต้องการจริงๆ ถ้าชัดเจนเเล้วเกิดกรณีเบี้ยว ขอให้เปิดเผยเรื่องนี้ต่อประชาคมโลกด้วย นักกฎหมายต้องรู้เท่าทันจีน''

ผศ.วรศักดิ์ บอกด้วยว่า สิ่งที่กำลังเดินไป เป็นความสำเร็จอีกก้าวของจีนสำหรับเส้นทางรถไฟซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนมาอย่างยาวนาน เพราะหากไม่มีรถไฟในไทย ประเทศลาวที่กำลังก่อสร้างก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมต่ออาเซียนได้

รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ  บอกว่า การใช้มาตรา 44 เป็นการทำให้การตรวจสอบทำได้ยากในทางปฏิบัติเพราะในคำสั่งมาตรา 44 นี้ได้ยกเว้นกฎหมายในหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับ การตรวจสอบ การฮั้วประมูล การหลอกลวงเเละการทุจริต นอกจากนั้น ยังพบว่าเนื้อหาในกฎหมายมีความคลุมเคลือเเละเปิดช่องให้เกิดปัญหามากมายตามมา

"โครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีนเป็นปัญหา ถึงเเม้จะทำด้วยเจตนารมณ์ที่ดี เเต่เขียนกฎหมาย สาระเเละรายละเอียดไม่ดีพอ คำถามคือ เป้าหมายดี เเต่วิธีการไม่ถูกต้อง เราจะเอาแบบนี้หรอ'' รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว