posttoday

รฟท.เคาะขยายสัญญารถไฟสายสีแดง

21 มิถุนายน 2560

รฟท.เคาะขยายสัญญารถไฟสายสีแดง เร่งต่อรองเอกชนเคลียร์ค่าโง่ ลุยขายซองทางคู่ 5 สัญญา 3.6 หมื่นล้านบาท

รฟท.เคาะขยายสัญญารถไฟสายสีแดง เร่งต่อรองเอกชนเคลียร์ค่าโง่ ลุยขายซองทางคู่ 5 สัญญา 3.6 หมื่นล้านบาท

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ กรรมการและรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) รฟท. มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 ภายหลังจากที่รฟท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดส่วนการขยายระยะเวลาครั้งนี้จะสั้นลงเนื่องจากขยายเวลาให้ผู้รับเหมาไปแล้ว 150 วัน เพื่อชดเชยผลกระทบเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทในอดีต

สำหรับสัญญาที่ 1 การก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล มูลค่า 29,640 ล้านบาท ของกิจการร่วมค้าเอสยู ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECและบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอน์ด คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บอร์ดเห็นชอบขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปประมาณ 800 วัน ให้กำหนดสิ้นสุดสัญญาในปี 2562

ส่วนด้านสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต 6 สถานี ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร มูลค่า 23,925 ล้านบาท ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD บอร์ดเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาออกไปประมาณ 200 วัน ให้กำหนดสิ้นสุดสัญญาปี 2561

นายอานนท์กล่าวต่อว่า สำหรับค่าโง่หรือค่าชดเชยโครงการที่รฟท.ต้องจ่ายให้เอกชนรวม 800-900ล้านบาทให้กับผู้รับเหมาทั้งสองสัญญานั้นบอร์ดยังไม่พิจารณาเห็นชอบเพราะวงเงินดังกล่าวเป็นข้อเสนอเอกชนฝ่ายเดียว รฟท.จึงต้องกลับไปพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้งว่าภาคเอกชนได้รับความเสียหายจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้ามากน้อยเพียงใด ซึ่งสัญญาก็ระบุว่า รฟท.ต้องจ่ายค่าชดเชยให้เอกชนตามความเหมาะสมอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องจ่ายเมื่อใด เพราะฉะนั้นจึงพอมีระยะเวลาในการเจรจา

นายอานนท์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด ยังได้พิจารณาปรับเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ ราคากลาง 9,326.83 ล้านบาท เพราะมีภาคเอกชน 2-3 ราย เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) ว่า ร่าง ทีโออาร์ดังกล่าวกำหนดให้เอกชนต้องมีผลงานการก่อสร้างอุโมงค์หิน ซึ่งทำให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นเอกชนไทยรายเดียวที่สามารถเข้าประมูลแบบเดี่ยวได้

นายอานนท์ กล่าวต่อว่า รฟท.ได้เริ่มเปิดขายซองตั้งแต่วันที่ 20มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเปิดซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ที่ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างสั่งให้เปิดประมูลใหม่อีก 5 สัญญา มูลค่ารวม 36,244 ล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – บางสะพานน้อย ราคากลาง 6,579 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย – ชุมพร ราคากลาง 6,071 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา–คลองขนานจิตร ราคากลาง 7,721 บาท และสัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร–ชุมทางถนนจิระ ราคากลาง 7,060 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ สัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค – ปากน้ำโพ ราคากลาง 8,813 ล้านบาท

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ - โคกกะเทียม (ทางรถไฟยกระดับ) วงเงิน 10,091 ล้านบาทนั้น บอร์ด มีมติให้ใช้ร่าง ทีโออาร์ฉบับเดิมที่นำขึ้นรับฟังความคิดเห็น เพราะทีโออาร์ ดังกล่าวเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลแบบเดี่ยว 5-6 ราย ซึ่งเพียงพออยู่แล้ว และจะเปิดขายซองประกวดราคาต่อไปในเร็วๆ นี้