posttoday

แจงย้ายบขส.กลับหมอชิตเก่าฉพาะรถทัวร์สายยาว

06 มิถุนายน 2560

คมนาคมแจงบขส.ย้ายกลับหมอชิตเก่าเฉพาะรถทัวร์สายยาวรัศมีเกิน 200 กม. ขณะที่สายสั้นย้ายไปสถานีกลางบางซื่อ ยันเชื่อมการเดินทางครบวงจร

คมนาคมแจงบขส.ย้ายกลับหมอชิตเก่าเฉพาะรถทัวร์สายยาวรัศมีเกิน 200 กม. ขณะที่สายสั้นย้ายไปสถานีกลางบางซื่อ ยันเชื่อมการเดินทางครบวงจร

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า มาตรการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ หรือหมอชิต 2 ไปอยู่ในพื้นที่หมอชิตเดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์บำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอสว่า บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำเป็นต้องดำเนินการรื้อสถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่ใช้อยู่ปัจจุบันออกทั้งหมด เพื่อคืนพื้นที่ซึ่งอยู่ในแปลงซี ตามแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) นำไปดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.

เบื้องต้นแนวทางการย้ายแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย รถโดยสารสายยาวที่เดินทางไปในจังหวัดที่มีรัศมีมากกว่า 200 กิโลเมตร จะย้ายไปอยู่ในพื้นที่หมอชิตเดิมเพียงอย่างเดียว ขณะที่รถโดยสารสายสั้นที่เดินทางในจังหวัดที่มีรัศมีไม่เกิน 200 กิโลเมตร จะย้ายมาอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ ออกแบบไว้ 50 ชานชาลา บนพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร รองรับได้ 600 คัน และมีจุดจำหน่ายตั๋วโดยสารอยู่บริเวณเดียวกันอีกประมาณ 400 ตารางเมตร โดยจุดนี้จะสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้เลย เช่น รถโดยสาร ขสมก., รถแท็กซี่, รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น

นายพิชิต กล่าวต่อว่า จำเป็นต้องย้าย บขส. ออกจากพื้นที่เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ตลอดจนลดปัญหาจราจรโดยรอบในขณะที่ก่อสร้างโครงการม๊โอกาสสภาพจราจรเป็นอัมพาตจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน อีกทั้งการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในแปลงซี และการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรอง (รถเมล์บีอาร์ที) ภายในศูนย์กลางบางซื่อก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ศึกษาออกแบบไว้อีกด้วย

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้กำชับแนวทางการอำนวยความสะดวกด้านการเชื่อมต่อจุดต่างๆในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อให้มีความพร้อมด้านความสะดวกสบายเบื้องต้นได้วางแผนไว้ว่า รถโดยสารสายยาวที่จะย้ายไปอยู่หมอชิตเดิมนั้น จะต้องวนมารับผู้โดยสารที่จุดจอดรับ-ส่งบริเวณสถานีกลางบางซื่อ ก่อนออกไปยังต่างจังหวัดด้วย ร่วมกับการจัดรถบัสบีอาร์ทีวิ่งวนรอบพื้นที่ทั้งหมดเพื่อรับ-ส่งคนตามจุดสำคัญต่างๆและพื้นที่จอดรถเมล์ขสมก.สำหรับเดินทางไปในเมืองหลวง

นอกจากนี้ยังมีแผนก่อสร้างทางเดินเชื่อมต่อลอยฟ้า (สกายวอล์ค)ระยะทาง 2 กิโลเมตรคล้ายทางเลื่อนในสนามบินสุวรรณภูมิ (Walk way) เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการเดินทางของประชาชน เพื่อไปใช้บริการรถโดยสารสายยาวด้วย