posttoday

กรมทางหลวงชนบทอัดงบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี

27 พฤษภาคม 2560

ทช.อัดงบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี 6.7 พันล้านบาท – เคาะงบ 61 รวม 4.78หมื่นล้านบาทไร้เงาเมกะโปรเจ็กส์ ตั้งเป้าลงนามสัญญาภายใน ธ.ค.นี้

ทช.อัดงบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี 6.7 พันล้านบาท – เคาะงบ 61 รวม 4.78หมื่นล้านบาทไร้เงาเมกะโปรเจ็กส์ ตั้งเป้าลงนามสัญญาภายใน ธ.ค.นี้

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบทเปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบทได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจอีอีซีอยู่ที่ราว 6,718 ล้านบาท รวม 6 โครงการ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางหลวงชนบทสายรย.5050 แยกสายนิคมส้รางตนเองสาย15 ถึงบ้านห้วยโป่งอำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ระยะทาง 10.198 กิโลเมตร วงเงิน 204 ล้านบาท คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 90 มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปีนี้ โครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสายแยกทางหลวงหมายเลข 7 ไปท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1,499 ล้านบาท คืบหน้าไปแล้วร้อยละ 3.6 กำหนดแล้วเสร็จในปีหน้า เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระบบขนส่งท่าเรือสนับสนุนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงสาย ฉช.3001 แยกทางหลวงหมายเลข314 ไปลาดกระบัง ระยะทาง 20.3 กิโลเมตร วงเงิน 3,801 ล้านบาท คืบหน้าไปแล้วร้อยละ 15 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 ส่วนอีก 3 โครงการที่เหลือเป็นโครงการที่ตั้งงบในปี 2561 และจะเริ่มดำเนินการในปีหน้าได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท รย.4058 แยกทางหลวง 3138ไปทางหลวง 344 อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ขยายช่องจราจรและปรับปุงผิวถนน ระยะทาง 32.8กิโลเมตร วงเงิน 209ล้านบาท เป็นเส้นทางผ่านนิคมอุตสาหกรรม IRPC สนับสนุนการขนส่ง โครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท รย.3013 แยกทางหลวง 331 ถึงทางหลวง3191 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ระยะทาง 17.3 กิโลเมตร วงเงิน 855 ล้านบาท ขยายเป็นสี่ช่องจราจรพร้อมงานระบบ และโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท รย.2015 แยกทางหลวง36 ถึงทางหลวง331 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เบื้องต้นตั้งงบค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ 150 ล้านบาท และจะเบิกงบประมาณเพื่อก่อสร้างต่อไปในปี 2562

นายพิศักดิ์กล่าวต่อว่า ขณะที่ความคืบหน้าเรื่องการจัดสรรงบประมาณปี 2561 นั้นสำนักงบประมาณได้เคาะวงเงินมาแล้วอยู่ทีราว 4.78 หมื่นล้านบาทจากเดิมที่ขอไปราว 8 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมรายละเอียดเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ แบ่งเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ได้แก่ งบประมาณลงทุนโครงการขนาดใหญ่ 2.8 หมื่นล้านบาท งบประมาณซ่อมแซมถนนทางหลวงชนบท 1.8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามงบประมาณในปีนี้ไม่มีโครงการขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็กส์ที่วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาทเลยแม้แต่โครงการเดียว ดังนั้นทช.จึงตั้งเป้าว่าต้องเริ่มจัดซื้อจัดจ้างในช่วงเดือนก.ย. ก่อนเร่งลงนามสัญญาทั้งหมดภายในเดือนธันวาคมตามกรอบเวลาของรัฐบาลที่ต้องการให้โครงการต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต้องลงนามภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่าย 15% ในช่วงต้นปีหมุนเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่งบประมาณปี 2560 ของกรมทางหลวงชนบทสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้แล้ว 62% หรืราว 2.85 หมื่นล้านบาทจากงบประมาณปี 2560 ทั้งหมด 4.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าที่กระทรวงคมนาคมตั้งไว้ราว 96% คิดเป็น 4.41 หมื่นล้านบาทได้ภายเดือนก.ย.นี้ โดยปัจจุบันยังคงติดปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในบางโครงการที่เกิดความล่าช้าจากปัญหาอุทกภัยทางใต้รวมถึงโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในช่วงหน้าฝนที่จะมาถึงนี้ อย่างไรก็ตามโครงการขนาดใหญ่ที่จะแล้วเสร็จในปีนี้วงเงินรวม 2,517ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางหลวงชนบทสฎ.3062 แยกทางหลวงหมายเลข 401 – เขื่อนรัชชประภา อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระยะทางรวม 9.590 กิโลเมตร วงเงิน 153 ล้านบาท โครงการอุโมงค์ทางลอดเมืองพัทยาบริเวณแยกถนนสุขุมวิท ถนนพัทยากลาง จังหวัดชลบุรี ระยะทางยาวรวม 1.9 กิโลเมตร วงเงิน 837 ล้านบาท กำหนดการแล้วเสร็จช่วงปลายเดือนมิ.ย. และโครงการทางหลวงชนบทสาย ฉ ผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 16.322 กิโลเมตร วงเงิน 1,527 ล้านบาท