posttoday

กรมส่งเสริมสหกรณ์หารือธปท.-คลังปรับเกณฑ์คุมสหกรณ์ออมทรัพย์

21 พฤษภาคม 2560

กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมนำผลการรับฟังความเห็นจากผู้แทนสหกรณ์ฯ134แห่ง หารือกับธปท.-กระทรวงการคลังเพื่อปรับเกณฑ์

กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมนำผลการรับฟังความเห็นจากผู้แทนสหกรณ์ฯ134แห่ง หารือกับธปท.-กระทรวงการคลังเพื่อปรับเกณฑ์

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมนำผลการรับฟังความเห็นจากผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีสินทรัพย์ทางธุรกรรมมากกว่า  5 พันล้านบาทขึ้นไป จำนวน 134 แห่ง หารือกับธนาคารแห่งประเทศ และกระทรวงการคลังในสัปดาห์ ว่าจะมีเกณฑ์ใดที่จะสามารถปรับได้หรือไม่ตามขอเสนอของที่ประชุมซึ่งทั้ง 134 แห่ง มีมูลค่าสินทรัพย์รวมคิดเป็น  80%  ของทรัพย์สินของสหกรณ์ทั้งประเทศ 2.2  ล้านล้านบาท 

ทั้งนี้เกณฑ์การบังคับใช้จะแบ่งเป็น 2 ระยะ ในระยะแรก 19 เกณฑ์ และในระยะ ที่ 2 อีก 3 เกณฑ์ ซึ่งมีเกณฑ์หลักๆ และมีความเร่งด่วน คือในเรื่องของการให้ผลตอบแทนแก่สมาชิก เพื่อให้สหกรณ์มีต้นทุนทางการเงินในระดับที่เหมาะสมและลดแรงกดดันในการหาผลตอบแทนจากการลงทุน  จะกำหนดอัตราเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วของสมาชิก  ต้องไม่เกิน 80%  ของกำไรสุทธิ และ กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภท ไม่เกิน 3.5%  ต่อปี ในขณะที่การกำหนดให้ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่น้อยกว่า  3 %ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืม เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของสหกรณ์   และขอให้ไม่นับเงินฝากจากสหกรณ์อื่นเป็นสินทรัพย์

อย่างไรก็ตามที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับ การกำหนดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน โดยให้นำเงินรับฝากจากสมาชิก/สหกรณ์อื่น มารวมคำนวณเป็นหนี้สินด้วย จะส่งผลกระทบต่อระบบสหกรณ์เป็นอย่างมาก สหกรณ์ที่มีอัตราส่วนเกิน 1.5 ต้องหาทางลดหนี้สิน โดยการให้สมาชิกถอนเงินฝากจากสหกรณ์ ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางของสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ส่งเสริมการออมของสมาชิก ดังนั้นในประเด็นนี้มีข้อเสนอให้ไม่นำเงินรับฝากมาคำนวณเป็นหนี้สิน

ขณะที่ การกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสมทบ ให้รับได้เฉพาะบิดา มารดา สามี ภรรยาหรือบุตรของสมาชิก ทุกฝ่ายเห็นด้วย เพื่อป้องกันการระดมทุนจากภายนอก ส่วนการกำหนดความสามารถในการก่อหนี้ไม่เกิน 1.5 เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง เพื่อไม่ให้ก่อหนี้เกินตัว จะขอให้มีการทบทวนเช่นกันเนื่องจากสมาชิกเห็นว่าเป็นการจำกัดการเติบโตของสมาชิก

การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ โดยสหกรณ์จะให้กู้กับสหกรณ์หนึ่งได้ไม่เกิน  10% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง และไม่เกิน 15 ล้านบาท กรณีใช้บุคคลค้ำประกัน เพื่อไม่ให้สินเชื่อกระจุกตัวที่ลูกหนี้รายใดรายหนึ่ง กำหนดการลงทุนของสหกรณ์ในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และต้องไม่เกิน 10%  ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง เพื่อไม่ให้การลงทุนของสหกรณ์มีความเสี่ยงสูง  นอกจากนั้นการเปิดเผยข้อมูลผลประโยชน์และค่าตอบแทนของกรรมการดำเนินการและผู้จัดการต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อให้สมาชิกทราบ กำหนดให้สหกรณ์รายงานธุรกรรมทางการเงินทุกเดือน ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการกำหนดเกณฑ์กำกับดูแลฯ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องดำเนินการกำกับให้เป็นไปตามเกณฑ์อย่างจริงจัง