posttoday

'ศุภชัย'ห่วงเศรษฐกิจไม่ดี เตือนฟองสบู่อสังหาฯ

18 พฤษภาคม 2560

"ศุภชัย" ชี้ เศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง เตือนฟองสบู่อสังหาฯ แนะให้รัฐบาลให้ข้อมูลที่แท้จริง

"ศุภชัย" ชี้ เศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง เตือนฟองสบู่อสังหาฯ  แนะให้รัฐบาลให้ข้อมูลที่แท้จริง

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง เพราะยังมีข้อถกเถียงเกิดขึ้นมากในสังคมว่าเศรษฐกิจดีจริงหรือไม่ จึงอยากให้รัฐบาลให้ข้อมูลเศรษฐกิจที่แท้จริงกับประชาชน เพราะการบริหารทางการเมืองจะมีการให้ข้อมูลในภาวะด้านดี

ทั้งนี้ จากข้อมูลจริงพบว่า การลงทุนภาคเอกชนมีตัวเลขไม่ชัดเจน การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอสังหา ริม ทรัพย์อย่างเดียวเป็นเรื่องผิดปกติ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่จาก ที่มีการก่อสร้างโครงการจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลดูแลให้ดี แม้ว่าตอนนี้ไม่มีสัญญาณฟองสบู่ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่

"รัฐบาลต้องให้ข้อมูลเศรษฐกิจการลงทุนที่ถูกต้องว่าทำไมเอกชนไม่ลงทุน ทั้งมีเงินสดมากและนำไปจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นสูง เป็นการกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์อย่างเดียว ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะควรนำไปลงทุนพัฒนาคน พัฒนานวัตกรรมการวิจัยการพัฒนาเพื่อขยายกิจการ กลับเน้นการจ่ายเงินปันผลกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์ โดยตอนนี้เอกชนไทยจ่ายเงินปันผลสูงที่สุดในอาเซียนและเอเชีย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดว่าถูกหรือไม่ นอกจากนี้เอกชนที่มาร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการประชารัฐ ก็ไม่ได้มีการผลักดันการลงทุนจริงๆ เป็นการร่วมเพื่อหน้าตาเท่านั้น" นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัยยังกล่าวถึงการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยของธนาคารพาณิชย์ว่า รัฐบาลควรเข้าไปดูข้อมูลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างเงินกู้กับเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยเทียบกับเพื่อนบ้านว่าแตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ธนาคารพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องหารายได้โดยพึ่งส่วนต่างดอกเบี้ยเหมือนในอดีต เพราะทางการเปิดทางทำธุรกิจหารายได้ทางอื่นมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์จึงไม่ควรคิดส่วนต่างดอกเบี้ยสูงเกินไป

นายศุภชัย กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยออมเงินน้อยลง เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ต่ำมาก โดยอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ไม่ถึง 1% และตอนนี้แนวโน้มเงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ต่ำมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาล ต้องเข้าไปดู

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเข้าไปดู โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งตอนนี้ไม่มีความคืบหน้า เพราะเอกชนไม่ยอมลงทุน ซึ่งมีหลายเหตุผล เช่น พื้นที่ ที่กำหนดไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุน พื้นที่เป็นพื้นที่ปิด ไม่เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจอื่น ไม่สามารถแข่งกับเขตเศรษฐกิจเพื่อนบ้านได้ และเงื่อนไขการลงทุนยังไม่จูงใจ ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เหมือนกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีเวลาอีกปีในการจะดำเนินการด้านต่างๆ ดังนั้นใครบอกว่า 3 ปี รัฐบาลไม่ทำอะไร ผมเข้ามาปีครึ่งทำอะไรไปตั้งหลายอย่าง คนที่พูดเองรู้ปัญหาแต่ทำไมเมื่อก่อน

อยู่เฉยๆ แล้วทำไมไม่ยกเครื่องเศรษฐกิจ หรือคิดไม่ออก หรือคิดไม่เป็น ทำไมปล่อยให้มาถึงขนาดนี้ ถ้าลงมือทำวันนี้แน่นอนที่ผลมันจะออก 3-4 ปีข้างหน้า แต่รัฐบาลไม่สนใจ เราได้เริ่มแล้วและจะเร่งมันขึ้นอีก และหวังว่าจะมีเอกชนเข้ามาช่วยร่วมผลักดัน โดยเฉพาะด้านดิจิทัลเพื่อผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้เร็วขึ้น

รัฐบาลกำลังดำเนินโครงการที่ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยให้มีการ ลงทะเบียนคนจนเพื่อสำรวจออกมา ว่าประชาชนที่รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/ปี มีอยู่เท่าไร

การเติบโตของเศรษฐกิจที่ 3.3% ในไตรมาสแรก เป็นตัวเลขที่ทำได้ดีภาวะนี้โลกกำลังแย่ เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศโตไม่เกิน 2% บางประเทศ 1% เศษ ญี่ปุ่น 0% กว่า แต่ไทยสวนทางกับประเทศอื่นๆ คือจากที่โต 0.8% ปรับตัวขึ้นมาเป็น 2.8% 3.2% ในปี 2558-2559 ตามลำดับ และเริ่มต้นที่ 3.3%

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคงยังไม่พอใจกับการเติบโตในขณะนี้ เพราะโดยโครงสร้างแล้วเศรษฐกิจไทยโตได้อย่างจำกัด ซึ่งมีบางคนบอกว่าเพราะรัฐบาลทหารเข้ามาจีดีพีจึงต่ำเตี้ย ต่ำสุดในอาเซียน ในประเด็นนี้ถ้าพิจารณาอย่างมีสติ มีจิตใจที่เป็นธรรม จะเห็นว่าการที่เศรษฐกิจจะโตได้เหมือนกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวีนั้นทำได้ไม่ง่าย เพราะเศรษฐกิจไทยมีขนาดใหญ่กว่าเพื่อนบ้านหลายเท่า