posttoday

เร่งปรับยุทธศาสตร์น้ำ

17 พฤษภาคม 2560

กรมชลฯ เร่งแก้รื้อสิ่งกีดขวางทางน้ำเจ้าพระยาหลังพบกว่า 8,000 แห่ง เตรียมเคลียร์พื้นที่เดินหน้าโครงการแก้น้ำท่วม 2.2 แสนล้าน

กรมชลฯ เร่งแก้รื้อสิ่งกีดขวางทางน้ำเจ้าพระยาหลังพบกว่า 8,000 แห่ง เตรียมเคลียร์พื้นที่เดินหน้าโครงการแก้น้ำท่วม 2.2 แสนล้าน

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในระหว่างเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ และการบูรณาการแผนการดำเนินการสิ่งกีดขวางทางน้ำว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)ต้องการให้ระดมปัญหาและอุปสรรคเพื่อนำไปจัดทำในยุทธศาสตร์น้ำแห่งชาติที่จะปรับใหม่จาก 12 ปี เป็น 20 ปี เนื่องจากในทางปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์พบว่า สิ่งกีดขวางคืออุปสรรคสำคัญที่จะมีผลต่อการระบายน้ำให้เป็นไปตามปริมาณที่ต้องการ

ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดจะเสนอ กนช.บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสั่งดำเนินการโดยพื้นที่ใดที่มีนัยสำคัญในการบริหารน้ำจะเสนอให้มีการดำเนินการทางรัฐศาสตร์ เพื่อรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวาง ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนหรือท่อระบายน้ำ สะพานเก่า ออกจากพื้นที่ โดย กนช.จะเป็นผู้กำหนดความจำเป็นเร่งด่วนและงบประมาณที่จะดำเนินการ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการบรรเทาอุทกภัยภาคกลาง 9 โครงการ วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ที่กรมชลประทานเสนอ กนช.เห็นชอบตามกรอบ นั้น พบว่ามีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทั้งบ้านเรือน ชุมชน ประมาณ 8,000 แห่ง เป็นโครงการฝั่งเจ้าพระยาตะวันออก 5,290 แห่ง และในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันตกประมาณ 3,152 แห่ง ซึ่งจะมีการนำเสนอให้ดำเนินการตามความสำคัญ โดยมีรังสิตโมเดลเป็นต้นแบบ เช่น กรณีคลองระบายน้ำ ที่สำคัญ อาจรื้อชุมชนและรัฐสร้างที่อยู่อาศัยให้ใหม่เหมือนคลองลาดพร้าว เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่คันคลองชลประทาน หรืออาจให้มีการยกระดับบ้านหรือแจ้งตอนช่วงน้ำหลากตามความสำคัญของสถานการณ์ ซึ่งทั้งหมดจะรับฟังครบทั่วประเทศและสรุปให้เสร็จในเดือน พ.ค.นี้ โดยทำเป็นแผนเสนอ กนช.ต่อไป

สำหรับ 9 โครงการบรรเทาอุทกภัย ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระราม 6 ถึงคลองชายทะเล จะเพิ่มอัตราการระบายน้ำจาก 210 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที ปรับปรุง 23 คลองความยาว  490 กิโลเมตร (กม.) งบประมาณดำเนินการ 6.2 หมื่นล้านบาท มีผู้รุกล้ำลำน้ำประมาณ  5,290 แห่ง ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบเพิ่มเติม คาดจะดำเนินการสร้างปี 2561-2564 โครงการนี้อยู่ในพื้นที่คลองชลประทานสามารถดำเนินการได้ทันที

2.โครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก เพิ่มศักยภาพระบายน้ำผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก จาก 130 ลบ.ม./วินาที เป็น 930 ลบ.ม./วินาที แยกเป็น 2 ช่วงคือ 1.ปรับปรุงคลองชัยนาท-ป่าสัก จาก 130 ลบ.ม./วินาที เป็น 930 ลบ.ม./วินาที งบประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ศึกษาแล้วเสร็จดำเนินการก่อสร้างปี 2560-2563 จะมีน้ำกักเก็บในลำคลองได้ 80 ล้าน ลบ.ม. และ 2.โครงการระบายน้ำหลากคลองป่าสัก-อ่าวไทย ระบายน้ำหลากได้ 600 ลบ.ม./วินาที จะตัดยอดน้ำก่อนเข้าเขื่อนเจ้าพระยาชัยนาทได้ 800  ลบ.ม./วินาที และจะสามารถกักน้ำในลำคลองได้ 50 ล้าน ลบ.ม. ความยาว 111.35 กม. โครงการนี้ผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ยังไม่มีการตั้งกรอบงบประมาณ

นอกจากนี้ ด้านฝั่งเจ้าพระยา ตะวันตก มีแผนงานปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก ปรับปรุง 22 คลอง และก่อสร้างคลองร่วมกับ ถนนพุทธมณฑลสาย 5 ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ เพิ่มการระบายน้ำลงแก้มลิงและเพิ่มประสิทธิภาพแก้มลิงคลอง มหาชัย จะสามารถลดปริมาณน้ำลง แม่น้ำท่าจีนได้ประมาณ 50% เพิ่มการระบายน้ำในฝั่งตะวันตกจาก 52 ลบ.ม./วินาทีเป็น 130 ลบ.ม./วินาที วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท ระยะก่อสร้าง 2560-2564 พบว่ามีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลอง 3,152 แห่ง อยู่ในเขตก่อสร้างถึง 1,420 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีการขุดลอกแม่น้ำเพิ่มความ มั่นคงแข็งแรงของคันกั้นน้ำริม แม่น้ำเจ้าพระยา งบประมาณ 1,700 ล้านบาท ศึกษาความเหมาะสมแล้ว เมื่อปี 2557 อยู่ระหว่างสำรวจหน้าตัดแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป นอกจากนั้น มีโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาลบางไทร ระบายน้ำเลี่ยงเมืองอยุธยา 1,200 ลบ.ม./วินาที คลองยาว 22.4 กม. วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาทจะมีน้ำกักเก็บได้ 25 ล้าน ลบ.ม.