posttoday

การท่าเรือลุยปั้นแลนด์มาร์คลองเตยแสนล้าน

16 พฤษภาคม 2560

กทท.ตั้งบริษัทลูกถือหุ้น 100% ปั้นแลนด์มาร์คคอลองเตยแสนล้าน เข็น 3 แปลงเปิดประมูลชวนเอกชนลงทุนภายในปีหน้า

กทท.ตั้งบริษัทลูกถือหุ้น 100% ปั้นแลนด์มาร์คคอลองเตยแสนล้าน เข็น 3 แปลงเปิดประมูลชวนเอกชนลงทุนภายในปีหน้า

ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท.เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ดกทท.) เพื่อดำเนินการจ้างที่ปรึกษาในการก่อตั้งบริษัทลูกด้านบริหารทรัพย์สินให้เข้ามากำกับดูแลด้านการสร้างรายได้เพิ่มให้องค์กรตลอดจนวางแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยกทท.จะถือหุ้น 100%ในช่วงแรกแล้วจะเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมทุนมีสัดส่วนถือหุ้นเพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนสำหรับลงทุนต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาแนวทางการจัดตั้งบริษัทประมาณ 1-2 เดือนจากนั้นจะเสนอเรื่องเข้าสู่กระทรวงการคลังในเดือนก.ค.เพื่อสอบถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในเดือนส.ค. เพื่อให้เป็นไปตามเป้าที่กทท.ได้ตั้งเอาไว้ว่าจะต้องจัดตั้งบริษัทลูกภายใน 3 เดือนหรือยอย่างช้าภายในเดือนต.ค.นี้ อย่างไรก็ตามในช่วงแรกจะเร่งรัดให้บริษัทลูกจัดทำแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อปั้นแลนด์มาร์คใหม่ของเมืองหลวงบริเวณพื้นที่ท่าเรือคลองเตยราว 2.3พันไร่ มูลค่ำไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

สำหรับพื้นที่แลนมาร์คคลองเตยของการท่าเรือนั้นแบ่งเป็นพื้นที่ แปลง A ประกอบไปด้วย อาคารศูนย์พัฒนาพาณิชยนาวี ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้าธุรกิจทันสมัยครบวงจร ที่อยู่อาศัยทดแทนชุมชนแออัดและสำนักงานเขตคลองเตย พื้นที่แปลง B เป็นสถานีบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก คลังสินค้าท่าเรือกรุงเทพ ท่าเทียบเรือตู้สินค้า X-ray Center ระบบประตูเขื่อนตะวันออกและจุดขึ้น-ลงทางด่วน และสถานีขนส่งทางรถไฟ ศูนย์กระจายสินค้าและพื้นีท่แปลง C รูปแบบการพัฒนาเป็นอาคารศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ริมน้ำเจ้าพระยาและศูนย์ประชุมครบวงจร ขณะที่เงินลงทุนเพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวนั้นจะใช้รูปแบบเงินหมุนเวียนเพื่อให้กระทบกับงบประมาณของภาครัฐบาลน้อยที่สุด โดยเบื้องต้นการท่าเรือจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนพื้นที่ศักยภาพก่อนในปีหน้าเพื่อรวบรวมทุนราว 2 พันล้านบาทก่อนนำเงินก้อนดังกล่าวไปลงทุนพัฒนาพื้นที่ต่างๆตามแผนแม่บทต่อไป แต่ทั้งนี้การระดมทุนผ่านกองทุนอินฟราสตัคเจอร์ฟันด์ และกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF : Thailand Future Fund) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลงทุนยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในมุมมองของกทท.

ร.อ.สุทธินันท์กล่าวต่อว่า ส่วนด้านพื้นที่ศักยภาพที่ได้ศึกษาไว้แล้วเพื่อนำออกมาเชิญชวนให้เอกชนลงทุนในปีหน้าประกอบด้วยที่ดิน 3 แปลง คาดว่าจะสร้างรายได้ราว 2 พันล้านบาทเพื่อนำเงินก้อนดังกล่าวไปลงทุนพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตยต่อไปในรูปแบบเงินทุนหมุนเวียน ได้แก่ พื้นที่แปลง 17 ไร่ ติดกับอาคารสำนักงานของกทท.สามารถพัฒนาเป็นศูนย์การขนส่งทางน้ำและก่อสร้างคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ส่วนแปลงต่อมาคือพื้นที่

14 ไร่ ใกล้ทางขึ้นลงทางด่วนคลองเตยสำหรับก่อสร้างเป็นอาคารสำนักงาน และสุดท้ายพื้นที่บริเวณตลาดคลองเตยถึงอู่รถเมล์ ที่มีแผนพัฒนาให้เป็นศูนย์ธุรกิจ อาคารสำนักงานและศูนย์การแสดงสินค้า ดังนั้นตลาดคลองเตยนั้นจะต้องมีการรื้อออกทั้งหมดภายในปีหน้า เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนโฉมสถานที่ให้สอดรับกับแผนการสร้างแลนมาร์คคลองเตยในอนาคตรวมถึงการรื้อย้ายที่อยู่อาศัยบริเวณชุมชนคลองเตยในพื้นที่ของการท่าเรือเกือบทั้งหมดเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้สอดรับกับแลนมาร์คแห่งใหม่ โดยเบื้องต้นได้เรียกพ่อค้าและประชาชนในพื้นที่มาคุยแล้ว ส่วนใหญ่ยินดีให้ความร่วมมือในการรื้อย้ายทั้งด้านตลาดคลองเตยและที่อยู่อาศัยของชุมชนคลองเตยเพื่อเปิดแนวทางการพัฒนาพื้นที่

ร.อ.สุทธินันท์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กทท.มีแผนเร่งพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. หลังจากนั้นจะเร่งให้ได้ข้อสรุปเรื่องรูปแบบการร่วมทุนพีพีพีเพื่อเสนอโครงการไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานระเบียงเศรษฐกิจอีอีซีตามแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเน้นไปที่การพัฒนารูปแบบบริการและขั้นตอนขนถ่ายสินค้าในอนาคตให้สอคล้องกับรูปแบบการส่งเสริมอุตสาหกรรมขั้นสูงอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมไอทีและอุตสาหกรรมการแพทย์ตลอดจนเตรียมพร้อมสำหรับรองรับเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่ที่จะไหลเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว เบื้องต้นได้รับโจทย์จากรัฐบาลว่าให้การท่าเรือเน้นพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อรองรับการคิดค้นเทคโนโลยีและผลิตนวัตกรรมใหม่รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D)อีกด้วย

“เร่งสุดๆแล้วแต่อีเอชไอเอมีความละเอียดอ่อนด้านการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนและประชาชนในพื้นที่เพื่อให้โครงการออกมาเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”ร.อ.สุทธินันท์กล่าว

นอกจากนี้ กทท.ยังมีแผนที่จะรื้อคลังสินค้าเดิมออกเพื่อพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือสำราญท่าเรือคลองเตย ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมะขาม ตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยว คาดว่ารูปแบบการลงทุนจะเป็นแบบเอกชนร่วมทุนกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาท่าเทียบเรือ อาคารสำนักงานและศูนย์ประชุมขนาดใหญ่เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ตลอดจนหารือร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)และการเคหะแห่งชาติให้เข้ามาดูแลจัดการปรับปรุงที่อยู่อาศัยชุมชนคลองเตยเพื่อยกระดับชีวิตของประชากรในชุมชนทั้งด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ทั้งหมด การสร้างอาชีพทั้งด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรับรายได้เพิ่มตลอดจนตั้งศูนย์อุตสาหกรรมในชุมชนคลองเตยเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุตลอดจนส่งเสริมด้านการศึกษาให้กับเยาวชนในชุมชนคลองเตยเพื่อกำจัดทัศนคติด้านลบและความเหลื่อมล้ำในเขตเมืองหลวง