posttoday

ห้ามอ้างค่าไฟขึ้นสินค้า

25 เมษายน 2560

"พาณิชย์" เบรกสินค้าขอปรับราคาอ้างค่าเอฟทีขึ้น 3.7% ยันกระทบต้นทุนไม่ถึง 1 บาท ชี้ค่าครองชีพไทยต่ำสุดอาเซียน

"พาณิชย์" เบรกสินค้าขอปรับราคาอ้างค่าเอฟทีขึ้น 3.7% ยันกระทบต้นทุนไม่ถึง 1 บาท ชี้ค่าครองชีพไทยต่ำสุดอาเซียน
 
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ศึกษาการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่เพิ่มขึ้นอีก 3.70% หรือ 12.52 สตางค์/หน่วย จากเดิม 3.3827 บาท/หน่วย เพิ่มเป็น 3.5079 บาท/หน่วย ในเดือน พ.ค.ส.ค. พบว่าจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าโดยรวม 0.0002-0.266% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้นกรมจะไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าโดยอ้างเหตุผลดังกล่าว

ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มี ผู้ประกอบการรายใดยื่นขอปรับขึ้นราคาสินค้า โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทรงตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิต ยังไม่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้ราคาสินค้านำเข้า ลดลง แต่หากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ก็อาจส่งผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าได้ ซึ่งกรมจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

"ต้นทุนการผลิตจากค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นมีสัดส่วนน้อยไม่ถึง 1% ดังนั้นจึงไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ประกอบการจะนำเรื่องดังกล่าวมาขอขึ้นราคาได้ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2558 ภาครัฐได้ปรับลดค่าเอฟทีลงไป 39 สตางค์ ตามราคาน้ำมันที่ลดลง แต่ขณะนี้ค่าก๊าซเพิ่มขึ้นจึงมีการปรับค่าเอฟทีขึ้น และหากเทียบกับการขึ้นค่าเอฟที 12.52% ครั้งนี้ ก็ถือว่ายังขึ้นไปไม่เท่ากับค่าเอฟทีที่ลงไปก่อนหน้านี้ โดยหากผู้ประกอบการรายใดต้องการขึ้นราคาสินค้า จะเรียกมาคุยกันว่าเพราะเหตุใด" นางนันทวัลย์ กล่าว

สำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการปรับขึ้นค่าเอฟที 3.70% คือ กระดาษพิมพ์เขียน ที่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 0.266% แต่คิดเป็นต้นทุนที่ปรับขึ้นเพียง 1 บาท/ดรีม จากราคาจำหน่าย 500 เป็น 501 บาท/ดรีม ส่วนปูนซีเมนต์ พอตแลนด์ได้รับผลกระทบ 0.25% จะทำให้ต้นทุนปูนเพิ่มขึ้น 50 สตางค์/ถุง หรือจากราคาจำหน่ายถุงละ 200 บาท ซึ่งตามหลักสินค้า 2 ชนิดนี้ เป็นสินค้าที่ติดตามดูแลสถานการณ์ราคาทุกเดือน หากจะปรับราคาต้องแจ้งให้กรมทราบก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน

นอกจากนี้ เมื่อแยกรายหมวดสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ 0.0002-0.2660% นั้น พบว่าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม จะได้รับผลกระทบ 0.004-0.158% โดยน้ำส้มสายชู ได้รับกระทบสูงสุด 0.158%  ส่วนน้ำอัดลม ได้รับผลกระทบต่ำสุด 0.004% ขณะที่สินค้าของใช้ประจำวัน ได้รับผล กระทบ 0.003-0.189% อาทิ ผ้าอนามัย ได้รับผลกระทบสูงสุด 0.189% ส่วนแชมพูสระผม ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 0.003% นอกนั้นคือ กระดาษและผลิตภัณฑ์ ได้รับผลกระทบ 0.014-0.266% โดยกระดาษพิมพ์เขียน ได้รับผลกระทบสูงสุด 0.266% สินค้าสมุดนักเรียน ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 0.014%

ด้านหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับผล กระทบ 0.0002-0.022% คือ เตารีดไฟฟ้า ได้รับผลกระทบสูงสุด 0.022% ขณะที่ตู้เย็น ได้รับผลกระทบต่ำสุด 0.0002% หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง เช่น รถบรรทุก ได้รับผล กระทบ 0.008%  วัสดุก่อสร้าง ได้รับผล กระทบ 0.0139-0.250% โดยปูนซีเมนต์ ได้รับผลกระทบสูงสุด 0.250% สังกะสี ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 0.139% ส่วนหมวดปัจจัยทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย ได้รับผลกระทบเพียง 0.0024% จอบและเสียม ได้รับผลกระทบเพียง 0.041% น้ำมันสำเร็จรูป ได้รับผลกระทบ 0.0006% พลาสติก ได้รับผลกระทบ 0.158% เครื่องแบบนักเรียน ได้รับผลกระทบ 0.0186% และรองเท้านักเรียน ได้รับผลกระทบ 0.0549%

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า กรมยังได้ศึกษาเปรียบเทียบราคาสินค้าไทยและเพื่อนบ้านอาเซียน พบว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ราคายังทรงตัว และราคาสินค้าไทยต่ำกว่าประเทศ เพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น สินค้าหมดอาหารสด ไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาฟองละ 2.70-2.80 บาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาราคาฟองละ 3.00 บาท ไก่สดกิโลกรัมละ 75-80 บาท เพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 5 บาท เนื่องจากโรงงานหยุดผลิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนเนื้อหมูราคากิโลกรัมละ 135-140 บาท เพิ่มขึ้น จากเดือนที่ผ่านมากิโลกรัมละ 10 บาท จากสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้หมูโตช้า

ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น น้ำมันปาล์มบรรจุขวด 1 ลิตร ขวดละ 38-40 บาท ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา 1-2 บาท สบู่ ยาสีฟัน และผงซักฟอก ราคายังคงเดิม

"เทียบกับอาเซียนสินค้าเนื้อไก่และไข่ไก่ของไทยราคาต่ำสุด ส่วนราคาน้ำตาลไทยต่ำสุดรองจากบรูไน ขณะที่ยาสีฟันไทยขายหลอดละ 50 บาท ต่ำกว่าอาเซียน ที่ขาย 60-80 บาท" นางนันทวัลย์ กล่าว