posttoday

รฟท.แจงเวนคืนสร้างรถไฟทางคู่ใช้ราคาตลาด หากไม่พอฟ้องร้องได้

20 เมษายน 2560

รฟท.ยันเวนคืนทางคู่ใช้ราคาตลาด หากไม่พอฟ้องร้องได้ คาดได้ตัวผู้รับเหมาทางคู่ 5 สายแรกภายในส.ค.นี้

รฟท.ยันเวนคืนทางคู่ใช้ราคาตลาด หากไม่พอฟ้องร้องได้ คาดได้ตัวผู้รับเหมาทางคู่ 5 สายแรกภายในส.ค.นี้

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ กรรมการและรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า การเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ระยะทาง 84 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 7,340 ล้านบาท  นั้นอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลแต่ทั้งนี้มั่นใจว่าการเวนคืนจะไม่กระทบต่อแผนการก่อสร้างเนื่องจากการก่อสร้างจะอยู่แนวเดิมของเส้นทางรถไฟอยู่แล้ว มีการเวนคืนประมาณ 5% เท่านั้น ที่เวนคืนก็จะเป็นทางโค้งที่ต้องตัดตรง อีกทั้งยังมีช่วงเวลาที่จะไปเวนคืนส่งมอบให้สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้

สำหรับความคืบหน้าโครงการดังกล่าวขณะนี้เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นบนเว็บไซต์ครั้งที่ 2 ในวันที่ 25-29 เมษายน และจะสามารถเปิดขายเอกสารประกวดราคาได้ปลายเดือนเมษายนนี้ คาดว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาก่อสร้างต้นเดือนกรกฎาคม 2560   อย่างไรก็ตามภายหลังจากขายซองเอกสารประกวดราคางานโยธาและระบบรางได้แล้ว.จะทยอยนำทีโออาร์โครงการรถไฟทางคู่ที่เหลืออีก 4 เส้นทาง รวม 9 สัญญา ขึ้นรับฟังความเห็น โดยเริ่มจากเส้นทางสายใต้ก่อน คือ ช่วงนครปฐม-หัวหิน และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

นายอานนท์กล่าวต่อว่า ภายหลังจากสามารถเปิดประมูลโครงการทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์แล้ว จะทยอยนำโครงการอีกเส้นทางที่เหลือเข้าสู่ขั้นตอนประกวดราคาเป็นรอบไป อาจเป็นแบบรายสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ ตามนโยบายของซูเปอร์บอร์ดที่ให้การประกวดราคาทำไม่พร้อมกันเพื่อเปิดช่องให้เอกชนแข่งขันกันได้มากขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่าจะได้ตัวเอกชนครบทั้ง 5 เส้นทางภายในเดือน ส.ค.นี้ภายหลังจากได้ตัวเอกชนรายแรกช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ช่วงต้นเดือนก.ค. อย่างไรก็ตาม รฟท.ประเมินว่าวงเงินราคากลางของรถไฟทางคู่ 5 เส้นจะปรับลดจากเดิมราวร้อยละ 10 คิดเป็น 1.01 หมื่นล้านบาท ไปอยู่ที่ 91,576 ล้านบาทจากเดิมที่ 101,746 ล้านบาท

ส่วนกรณีมีประชาชนที่เขตเทศบาลนครราชสีมาร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่นนั้น

นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์ รฟท. กล่าวว่า รฟท.มีกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปดูแลความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากการเวนคืนพื้นที่อยู่แล้ว โดยยึดหลักการชดเชยให้เพียงพอต่อการเริ่มต้นหาที่ทำกินใหม่ แต่ส่วนใหญ่ที่เกิดปัญหานั้นมาจากเรื่องวิถีชีวิตดั้งเดิมเป็นเรื่องหลัก แต่ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้ว รฟท.จะมอบอำนาจใหกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้คิดคำนวณราคาที่เหมาะสมโดยอิงจากราคาตลาดแต่หากผู้ถูกเวนคืนเห็นว่าไม่เพียงพอ ก็สามารถฟ้องร้องเพื่อขอเพิ่มได้ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว โดยสามารถแสดงหลักฐานความเสียหายที่ได้รับจริง ซึ่งส่วนมากศาลก็ให้ ซึ่งก็สามารถรับก้อนแรกไว้ก่อน แล้วที่เหลือก็รับในภายหลังตามหลักการทั่วไปของกฎหมาย