posttoday

เตรียมเสนอยกเลิกใช้ 3 สารเคมีหลังพบอันตรายต่อสุขภาพ

16 เมษายน 2560

เสนอกระทรวงเกษตรฯพิจารณาเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด หลังพบอันตรายต่อสุขภาพ

เสนอกระทรวงเกษตรฯพิจารณาเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด หลังพบอันตรายต่อสุขภาพ

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในงานเสวนาวิชาการ “การเกษตรไทยต้องพึ่งพาสารกำจัดศัตรูพืชจริงหรือ” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมวัชพืชแห่งประเทศไทย มีประเด็นที่นำเสนอโดยผู้ที่เข้าร่วมเสวนาคือ สารเคมีจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต  ไกลโฟเสต  และคลอไพริฟอส ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมหารือกับกรมอนามัย กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ เพื่อร่วมพิจารณาผลกระทบต่อสุขภาพ

ทั้งนี้มีการกล่าวว่า สารเคมีทั้ง 3 ชนิดเป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายควรที่จะมีการพิจารณายกเลิกการใช้หรือไม่ รวมทั้งจากการที่ผู้แทนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้แจ้งข้อคิดเห็นและแนวทางการจัดการสารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว ของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมวัตถุอันตรายเป็นคณะกรรมการฯ และมีผู้แทนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้เสนอแนวทางในการดำเนินการสารเคมีทั้ง 3 ชนิดไว้ ดังนี้

พาราควอต ที่ประชุมมีข้อเสนอ ให้กำหนดระยะเวลายกเลิกการใช้ในปี 2562 เพื่อให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรมีเวลาเตรียมตัวหาทางเลือกอื่นอีก 3 ปี  โดยไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่มและไม่ต่ออายุทะเบียน เนื่องจากเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง และมีประเทศต่างๆมากกว่า 40 ประเทศยกเลิกการใช้

ไกลโฟเสต ที่ประชุมมีข้อเสนอ ให้จำกัดการใช้อย่างเข้มงวด โดยห้ามใช้สำหรับการเกษตรในพื้นที่สูงและพื้นที่ต้นน้ำ   ห้ามใช้ในบริเวณแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งห้ามใช้ในพื้นที่สาธารณะ และเขตชุมชน โดยมีเหตุผล เนื่องจากองค์กรอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง

คลอไพริฟอส ที่ประชุมมีข้อเสนอ ให้ยกเลิกการใช้ในบ้านเรือน.ส่วนการใช้ทางการเกษตรให้กำหนดระยะเวลายกเลิกการใช้ในปี 2562 เพื่อให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรมีเวลาเตรียมตัวหาทางเลือกอื่นอีก 3 ปี  โดยไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่มและไม่ต่ออายุทะเบียน และจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดในภาคเกษตรห้ามใช้พืชผักและผลไม้โดยเด็ดขาด เนื่องจากพบการตกค้างของคลอไพริฟอสอยู่ในกลุ่มสารเคมีที่ตกค้างสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากคาร์เบนดาซิม และสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีนออกข้อกำหนดห้ามใช้ในผักและผลไม้ทุกชนิดจนถึงหลายประเภท

"กรมวิชาการเกษตรได้รับฟังข้อเสนอของคณะกรรมการฯ และได้แจ้งว่า จะนำข้อมูลที่ได้รับการเสนอมาทั้งหมดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ได้แก่ข้อมูลที่เกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพ กรมวิชาการเกษตรจะให้กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ ซึ่งมีความชำนาญในเรื่องดังกล่าวพิจารณา

ส่วนในเรื่องการใช้ทางการเกษตร พิษตกค้าง และด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กรมวิชาการเกษตรจะมอบหมายให้คณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังซึ่งมีผู้แทนที่รับผิดชอบในแต่ละสาขาวิชาพิจารณาข้อมูลทางวิชาการ โดยใช้หลักเกณฑ์การจัดวัตถุอันตรายเข้าอยู่ในรายการเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 12 ข้อ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐาน  FAO และ WHO โดยกำหนดให้การพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2560"อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว