posttoday

บิ๊กฉัตรสั่งแจ้งทุกจังหวัดให้ชาวนางดปลูกข้าวรอบสาม

29 มีนาคม 2560

รมว.เกษตรฯสั่งกรมชลประทานทำหนังสือถึงผู้ว่าทุกจังหวัดให้ชาวนางดปลูกข้าวรอบสาม

รมว.เกษตรฯสั่งกรมชลประทานทำหนังสือถึงผู้ว่าทุกจังหวัดให้ชาวนางดปลูกข้าวรอบสาม

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าสั่งการให้นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ภายในวันนี้(29 มี.ค.) เพื่อทำความเข้าใจถึงแผนบริหารจัดการน้ำการเกษตร และให้เจ้าหน้าที่ชลประทาน ลงพื้นที่ตั้งแต่  30 มี.ค.  เป็นต้นไปเพื่อทำความเข้าใจกับเกษตรกรงดปลูกข้าวรอบสาม พร้อมกับชี้แจงแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อปลูกพืชฤดูฝนโดยขอให้รอกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ    

นายสัญชัย  กล่าวว่า กรมชลฯได้ทำแผนปลูกข้าวรอบแรกกับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำลุ่มบางระกำ  สำหรับพื้นที่ 2.65 แสนไร่   โดยตกลงร่วมกันที่จะส่งน้ำวันที่ 1 เม.ย.  จะเริ่มปล่อยน้ำ เข้าพื้นที่ลุ่มบางระกำ จ.พิษณุโลก สุโขทัย ให้ปลูกข้าวนาปี  ตามกำหนดแผน เลื่อนขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวได้ก่อนเมื่อถึงฤดูน้ำหลากไม่เกิดความเสียหาย  และในช่วงฤดูฝนจะใช้พื้นที่นี้หน่วงน้ำตัดยอดน้ำจากลุ่มน้ำยม-น่าน จะเก็บน้ำได้ 300-400 ล้านลบ.ม. โดยเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ทำประมงได้ด้วย 

อธิบดีกรมชลฯ กล่าวว่าแผนการส่งน้ำปี  2560    ให้กับพื้นที่เกษตร ในส่วนพื้นที่ดอนตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป 1.92 ล้านไร่ ขอให้เริ่มปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่ฤดูฝน สำหรับพื้นที่ตอนล่างนครสวรรค์ลงมา ในพื้นที่ลุ่มต่ำ  1.15 ล้านไร่ เริ่มส่งน้ำปลูกข้าวนาปีวันที่ 1 พ.ค.60 ในขณะที่พื้นที่ดอนประมาณ 4.27 ล้านไร่  ขอให้ปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนเช่นกัน เพื่อใช้น้ำฝนเป็นหลัก ทั้งนี้ในพื้นที่ เหนือเขื่อนเจ้าพระยาและใต้เขื่อน  จะส่งน้ำเข้าระบบช่วง 1 พ.ค. ได้แบ่งเป็นลุ่มเจ้าพระยาตอนบน และตอนล่าง เช่นพื้นที่ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งเชียงราก ทุ่งบางกลุ่ม  ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งผักไห่ ทุ่งบางบาล ทุ่งป่าโมก ทุ่งเจ้าเจ็ด ขอให้ เกษตรกรหยุดทำนาปรังต่อเนื่องเพื่อสำรองไว้ในเขื่อนกรณีฝนทิ้งช่วงเดือน ก.ค.

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล  อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่าจากการปฎิบัติการฝนหลวงตั้งแต่ 3 มี.ค.ถึงปัจจุบัน มีการขึ้นบินจำนวน 22 วัน 389 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกรวม 42 จังหวัด มีปริมาณน้ำลงอ่างสะสม 62 ล้านลบ.ม.นอกจากนั้นผลการปฎิบัติแก้ไขหมอกควันภาคเหนือลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้สั่งการให้ศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ประสานความร่วมมือ จังหวัดนราธิวาส  เพิ่มปริมาณน้ำพื้นที่เกษตร คืนความชุ่มชื้นผืนดินเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวในช่วงเดือนมี.ค.ถึง มิ.ย.ทุกปีมักเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง ป่าพรุบาเจาะ

สำหรับปริมาณน้ำใช้การได้ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา  ณ วันที่ 29 มี.ค.รวม 5,486 ล้านลบ.ม. เทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันมีน้ำใช้การได้ 2,427 ล้านลบ.ม.ดังนั้นในปีนี้มีน้ำใช้การได้มากกว่าปีแล้ว ล่าสุด รวม 3,059 ล้านลบ.ม. ซึ่งพายุฤดูร้อนในช่วง 13 มี.ค.ถึงปัจจุบัน ส่งผลน้ำไหลเข้า 34 เขื่อนหลัก 333 ล้านลบ.ม.

ทั้งนี้สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศออสเตรเลีย ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 มี.ค.60 ว่ามีโอกาส 50 เปอร์เซนต์ที่จะเกิดปรากฎเอลนีโญ่(แล้ง)ตั้งแต่เดือน ก.ค.60 เป็นต้นไป จากการเกิดอุณหภูมิย่านกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก สูงกว่าค่าปกติ โดยฝั่งตะวันตกสูงกว่าค่าปกติ 1 องศาเซลเซียส ส่วนฝั่งตะวันออก สูงกว่าค่าปกติ 2 องศาเซลเซียส ซึ่งบ่งชี้โอกาสเกิดปราฎการณ์เอลนีโญ่ในภูมิภาคนี้