posttoday

"BEM"คว้าเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

28 มีนาคม 2560

รฟม.ให้ "BEM" เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย "รมว.คมนาคม"เผยประหยัดเงินลงทุนได้มากถึง 3.7 หมื่นล้านบาท

รฟม.ให้ "BEM" เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย "รมว.คมนาคม"เผยประหยัดเงินลงทุนได้มากถึง 3.7 หมื่นล้านบาท

นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยว่าจ้างบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นผู้เดินรถรายเดิมในโรงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-หัวลำโพง ให้เข้ามาติดตั้งระบบและบริหารเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อท่าพระ รวมทั้งบางซื่อ-เตาปูนซึ่งจะเปิดเดินรถเชื่อมต่อกันภายในเดือนส.ค.นี้   โดย ครม.ยังได้เร่งรัดให้พิจารณาโครงการร่วมทุนและกำหนดข้อบังคับให้ติดตั้งระบบตั๋วร่วมด้วย ตลอดจนการเพิ่มกลุ่มบุคคลที่สาม (Third Party)  เข้ามาทำหน้าที่ในการตรวจสอบรายได้และรายจ่ายของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตลอดเส้นทางเพื่อความโปร่งใสด้านการบริหารจัดการในอนาคต

นายอาคม กล่าวต่อว่า  คณะกรรมการเจรจาตามมาตรา 43 และคณะกรรมการกำกับดูโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ( ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ /หัวลำโพง-บางแค  -หัวลำโพง) ได้มีข้อสรุปร่วมกันในเรื่องของสัมปทานโดยจะรวมทุกสัญญาสัมปทานให้สิ้นสุดพร้อมกันในปี 2592 ประกอบด้วย สัมปทานส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน สัมปทานเดินรถ 1 สถานี เตาปูน-บางซื่อและสัญญาสัมปทานสายสีน้ำเงิน ที่จะสิ้นสุดในปี 2572 

อย่างไรก็ตามครม.ยังเห็นชอบให้โครงการดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)เพื่อรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้เงินปันผล 8 ปี  ประกอบด้วย

นายอาคม กล่าวต่อว่า ภายหลังจากเจรจากับ BEM สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนได้ถึง 37,457 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานระบบรถไฟฟ้า  20,826 ล้านบาท  ลดลงจากเดิม 4,617 ล้านบาท  ค่างานดำเนินการและบำรุงรักษา (O&M) 207,062 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 32,840 ล้านบาท ส่วนอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ช่วง 3 ปีแรก และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี  สูงสุดที่ร้อยละ 7.5 ส่วนประมาณการผลตอบแทน 27,813 ล้านบาท ในกรณีที่ผู้โดยสารเป็นไปตามประมาณการ อย่างไรก็ตามทางกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะไม่เพิ่มอัตราค่าโดยสารยังคงเพดานตลอดสายไว้มากสุดที่ 42 บาทและไม่มีการเก็บค่าแรกเข้าเพิ่มเติมอีกด้วย หลังเปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน  โดยสายสำน้ำเงินเดิมมี 18 สถานี  ส่วนต่อขยายอีก  19 สถานี ดังนั้นจะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้เพิ่มขึ้นด้วยค่าใช้จ่ายเท่าเดิม โดยคิดเป็นผลประโยชน์ที่คืนให้กับประชาชนประมาณ  62,569 ล้านบาท หรือปีละ  2,085 ล้านบาท  ส่วนการคำนวณผลตอบแทนภายในส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity IRR ) หรือระหว่าง รฟม.กับผู้รับสัมปทาน  สามารถต่อรองลงมาเหลือ ร้อยละ 9.75   ตลอดอายุโครงการ 30 ปี

ด้านนายพีระยุทธ์ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า โครงการนี้มีรูปแบบดำเนินการแบบ พีพีพีเน็ตครอส คือเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งงานระบบและค่าใช้จ่ายในการเดินรถรวมทั้งการบำรุงรักษาระบบ โดยรัฐไม่มีการการเงิน  ดังนั้นความเสี่ยงในการดำเนินการ   ปริมาณผู้โดยสารและการจัดเก็บรายได้เอกชนจะเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมด  ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจเลือกผู้ประกอบการรายเดิมนั้นเพราะมองว่าการให้ BEM เดินรถจะทำให้แผนงานเดินรถเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง  เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการ และไม่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายขบวนรถอีกด้วย  อย่างไรก็ตามคาดว่ารฟม.สามารถเปิดเดินรถได้บางส่วนในช่วงปลายปี 2562 คือ ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และจะเปิดเดินรถเต็มรูปแบบในช่วงต้นปี 2563 ส่วนวันที่จะลงนามในสัญญานั้น คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน เพราะจะต้องแจ้งให้ BEM รับทราบเงื่อนไขเพิ่มเติมเรื่องการใช้ระบบตั๋วร่วม และการมีบุคคลที่สามเข้ามาประเมินและตรวจสอบโครงการอีกขั้นตอนหนึ่ง