posttoday

คปพ.หนุนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

28 มีนาคม 2560

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หนุนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โต้"หม่อมอุ๋ย"อย่ากังวลทหารจะหาประโยชน์

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หนุนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โต้"หม่อมอุ๋ย"อย่ากังวลทหารจะหาประโยชน์

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย นางรสนา โตสิตระกูล อดีตสว. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พร้อมกลุ่มสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. ร่วมกันแถลงจุดยืนคัดค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 30 มี.ค.นี้

นายปานเทพ กล่าวว่า เนื้อหายังแก้ไขไม่ตอบโจทย์ตามที่ประชาชนเรียกร้อง เพราะถึงแม้จะมีการกำหนดให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ มาจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติจริง แต่ไม่ได้กำหนดให้จัดตั้งทันที เท่ากับว่าเป็นการเปิดช่องให้บริษัทรายเดิม ได้ต่อสัมปทานรอบใหม่ อีกทั้ง ตามระบบแบ่งปันผลผลิตและจ้างผลิตไม่ได้กำหนดให้มีการประมูลอย่างยุติธรรม สุดท้ายจะเกิดช่องว่างการใช้ดุลยพินิจเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิมอยู่ดี 

ทั้งนี้ ยืนยันว่าคปพ.จะไม่รับตำแหน่งใดๆทั้งสิ้นในบรรษัทน้ำมันแห่งชาติอย่างแน่นอน และในวันที่ 30 มี.ค. เวลา 08.00 น. จะเข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ต่อประธาน สนช. แต่หาก สนช. ยังผ่านร่างกม.ดังกล่าว จะยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการโดยใช้มาตรา 44 เพื่อยุติร่างดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แต่หากไม่ได้รับคำชี้แจงจากนายกฯ ก็จะปักหลักชุมนุมบริเวณหน้า กพร. จนกว่ารัฐบาลเลิกกฎหมายดังกล่าว

ขณะที่ นายธีระชัย แถลงตอบโต้ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ว่า ที่ออกมาคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยเฉพาะข้อกังวลจะมีกรมทหารเข้ามาบริหารจัดการน้ำมันนั้น เหตุใดจึงไม่ต้องการให้เชื้อเพลิงธรรมชาติมาตกอยู่ในมือของรัฐ เพราะการให้รัฐจัดการ จะทำให้รัฐและประชาชนได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง 100% จึงไม่อยากให้กังวลว่าทหารจะเข้ามาจัดการ เพราะทหารก็น่าจะนึกถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้ การที่กรมพลังงานทหารเข้ามาหม่อมราชวงศ์ก็ยิ่งทำให้การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติทำได้ทันที แต่การบริหารขึ้นอยู่กับโมเดล โดยบทบาทบรรษัทสามารถทำเป็นบันได 3 ขั้น ซึ่งขั้นที่ 1 ต้องมี 2 บทบาท คือ ขายปิโตรเลียมแทนเอกชน เพราะหากให้เอกชนมาจัดการ หน่วยงานรัฐไม่สามารถตรวจสอบเอกชนได้ และบทบาทในการถือกรรมสิทธิ์แทนรัฐ เช่น ท่อก๊าซ แท่นขุดเจาะ

"หากใช้โมเดลแรกก็สามารถตั้งได้ทันที และไม่จำเป็นต้องใช้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจ และไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการรวมศูนย์อำนาจ หรือการเมืองจะเข้ามาแทรกแซง เพราะทุกอย่างต้องทำอย่างโปร่งใส" นายธีระชัย กล่าว

ส่วนบันไดขั้นที่ 2 ต้องมีบุคคลากรที่มีความรู้ ไม่ต่างจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลต. หรือเอกชน และให้ผลตอบแทนน่าพึงพอใจ ซึ่งบันไดที่ 1-2 สามารถทำได้ โดยไม่ต้องใช้คนมาก

สำหรับบันไดขั้นที่ 3 บรรษัททำธุรกิจเองทุกขั้นตอน แต่อยากให้ดูตัวอย่างจากประเทศเม็กซิโก เพื่อดูว่าประเทศไทยพร้อมถึงขั้นนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ก็ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากเสนอสนช.ไม่ต้องตัดมาตราเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออก แต่ขอให้แก้ไขให้สามารถจัดตั้งได้ทันที ก่อนจะมีการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ทั้งแห่งเอราวัณและบงกช

ด้านน.ส.รสนา กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพราะ รูปแบบการแบ่งปันผลผลิตในร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้มาตรฐานสากล และไม่กำหนดให้มีการประมูลสัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งเป็นวิธีที่โปร่งใสที่สุด เท่ากับว่าเปิดช่องให้เอกชนรายเดิมได้ประโยชน์