posttoday

หม่อมอุ๋ยแฉมีกระบวนการยัดไส้ตั้งบรรษัทน้ำมันในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม

27 มีนาคม 2560

อดีตรองนายกฯเผยมีทหารกลุ่มหนึ่งพยายามแทรกเนื้อหาตั้งบรรษัทน้ำมันในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม วอนสนช.โหวตต้าน

อดีตรองนายกฯเผยมีทหารกลุ่มหนึ่งพยายามแทรกเนื้อหาตั้งบรรษัทน้ำมันในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม วอนสนช.โหวตต้าน

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวกรณี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมวาระที่สองและสาม ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ว่า ขอคัดค้านเนื่องจากมีการแทรกเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ในมาตรา 10/1  ข้อความว่า  "ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม  โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมัน" ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบมาพากล  และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกการเมืองแทรกแซงในอนาคต เนื่องจากโอนอำนาจเบ็ดเสริมทั้งเรื่องการบริหาร  และการจัดสรรพลังงานไว้ในองค์กรเดียวกัน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้อ่านจดหมายเปิดผนึก  มีสาระสำคัญโดยชี้ว่า  มีความพยายามของทหารกลุ่มหนึ่ง  ในการผลักดันให้เกิดการแทรกเรื่องของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าในในร่าง พรบ. ปิโตรเลียม ที่จะเปิดช่องเข้ามามีอำนาจเหนือแหล่งพลังงานและกิจการพลังงานของชาติ

"นายกรัฐมนตรีได้บอกผม  (สมัยยังเป็นรองนายกฯ) ว่าก่อนนำเสนอ สนช. ขอให้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการพลังงานของ สนช.  จึงได้เชิญคณะกรรมาธิการดังกล่าวมาสนทนาที่ทำเนียบเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2558  ผู้ที่มาพบมี 7 คน ปรากฏว่าเป็นอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คน  โดยมีการย้ำขอให้เพิ่มเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ  ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจเป็นอย่างมาก

"ความไม่ชอบมาพากลคือในการพิจารณาร่าง พรบ. ปิโตรเลียมของกรรมาธิการในวาระหนึ่งไม่มีเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ  ทำไมถึงมาโผล่ในวาระสอง  และทำไม ครม. ถึงยอมให้มีการเพิ่มเติมเข้าไปในวาระที่สองทั้งที่ไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล  ซึ่งหนทางหยุดยั้งความไม่ชอบมาพากล  คือให้ สนช. โหวตหยุดร่างพ.ร.บ.ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อประเทศชาติ"ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังได้แจกเอกสารระบุรายชื่อ 15 คนว่าเป็นผู้สนับสนุนให้ตัดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในมาตรา 10/1 ออกจาก พรบ.ปิโตรเลียม  ประกอบด้วย นายคุรุจิต  นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน  นายมนูญ  ศิริวรรณ นายพรายพล  คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านพลังงาน  นายเจน  นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรม  นายอานิก  อัมระนันท์ อดีตรองประธานกรรมาธิการการพลังงาน  สภาผู้แทนราษฎร  นายอนนต์  สิริแสงพิทักษ์ กรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมีคอล  นายอนุสรณ์  แสงนิ่มนวล  ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัทบางจากปิโตรเลียม จก. เป็นต้น

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า มีสิ่งที่น่ากลัว  คือการให้บรรษัทเป็นผู้ถือสิทธิ์ในแหล่งปิโตรเลียมทั้งหมดของประเทศชาติ  สามารถทำอะไรได้มากกว่าอย่างที่นึกไม่ถึง  สามารถเป็นผู้จัดประมูล  ทำได้แม้แต่การตั้งบริษัทลูก  เมื่อฝ่ายกำกับกับฝ่ายปฏิบัติมาอยู่ในองค์กรเดียวกัน  ถามว่าใครจะกลั่นกรอง  ในที่สุดเราจะควบคุมไม่ได้ ยิ่งถ้าฝ่ายการเมืองซึ่งมีวิธีร้อยแปดที่จะเข้ามาครอบงำในอนาคตแล้วจะเสียใจ  ที่ยกมาพูดนี้เพราะต้องการให้เห็นความเสี่ยงอีกทาง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าเป็นการเตือนให้ระวังยักษ์ตัวใหม่ ที่บรรษัทน้ำมันจะถือสิทธิ์ได้ทุกอย่าง  ซึ่งฝ่ายการเมืองเข้าไปควบคุมบรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้โดยวิธีร้อยแปด  ถามว่าเวลานั้นเขาทำอะไรที่ไม่ชอบมาพากลใครจะแก้ไข  ขณะที่ปัจจุบันยังสามารถร้องเรียนกดดันได้

"ทุกอย่างถ้าทำกันแบบเปิดเผยมาสังคมก็สามารถเคลื่อนไหวให้เกิดการถกเถียงได้  แต่ใครจะนึกว่ามีการเติมเข้าไปอย่างรวดเร็วในวาระสอง  เหมือนวาระหนึ่งให้ตายใจ  วาระสองแอบใส่  ทั้งที่ใส่ไม่ได้ถ้าไม่มีหลักการเหตุผลรองรับ  เราก็ได้แต่วิงวอนให้ สนช. ใช้ดุลยพินิจเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมือง  และถ้าไม่เอามาซุกไว้กับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม  แต่เสนอเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ต่างหาก  ก็จะสามารถถกเถียงกันได้อย่างจริงจัง"ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในบทเฉพาะกาลยังมีการระบุด้วยว่าระหว่างตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาใหม่ ๆ ให้กรมพลังงานทหารดูแลก่อน  ทำให้ไม่แน่ใจว่ามีประสบการณ์ดูแลหรือไม่  เพราะในอดีตเมื่อ 50 ปีสมัยที่มีน้ำมันสามทหาร  ก็พบว่ามีส่วนการตลาดน้อยมาก  และถูกครอบงำโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติ