posttoday

เคาะรถยนต์ไฟฟ้า ชงครม.เห็นชอบ28มี.ค.

25 มีนาคม 2560

บีโอไอคลอดมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รอชง ครม. 28 มี.ค. ออกแพ็กเกจใหญ่

บีโอไอคลอดมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รอชง ครม. 28 มี.ค. ออกแพ็กเกจใหญ่

นายอุตตม สาวนายน  รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม ยานยนต์แห่งอนาคตสอดคล้องกับนโยบายสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมลดมลพิษ ประกอบกับไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตรถยนต์

"มาตรการที่บอร์ดบีโอไออนุมัติครั้งนี้เป็นส่วนที่ส่งเสริมเท่านั้น แต่ทั้งแพ็กเกจส่งเสริมนั้นจะมีทั้งมาตรการของกรมสรรพสามิต รวมถึงมาตรการที่จะจูงใจให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เช่น การกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้า การกำหนดพื้นที่ให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น แหล่งท่องเที่ยวของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)" นายอุตตม กล่าว

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่กระทรวงพลังงานจะให้สิทธิประโยชน์ให้เอกชนที่ต้องการลงทุนสถานีชาร์จรวมถึงจัดการซากแบตเตอรี่ในอนาคต จะเป็นภาพประกอบการส่งเสริมที่สมบูรณ์ ที่ทั้งหมดจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในวันที่ 28 มี.ค.นี้แน่นอน

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า การเปิดให้ผู้ประกอบการยื่นขอรับส่งเสริมในปี 2561 นั้น ตามเกณฑ์ผู้ประกอบการจะต้องลงทุนภายใน 3 ปี จึงคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบในไทยภายใน 5 ปี

ทั้งนี้ การส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะมี 3 แบบ ได้แก่ 1.กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (เอชอีวี) จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2560 เสนอเป็นแผนงานรวม ประกอบด้วยโครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญๆ ส่วนสิทธิและประโยชน์จะได้รับเฉพาะยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร

แบบที่ 2 กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (พีเอชอีวี) ต้องเสนอเป็นแผนงานรวม ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายใน 31 ธ.ค. 2561 ได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี หากผลิตชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี

ขณะที่แบบที่ 3 กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (บีอีวี) เสนอเป็นแผนงานรวม ยื่นคำขอรับส่งเสริมลงทุนภายใน 31 ธ.ค. 2561 จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี หากมีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 10 ปี

นางหิรัญญา กล่าวว่า กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เสนอเป็นแผนงานรวม ยื่นคำขอรับส่งเสริมลงทุนใน 31 ธ.ค. 2561 ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี