posttoday

เผยรัฐขาดงบประมาณ ทำทางคู่เด่นชัย-เชียงรายอืด

20 มีนาคม 2560

โครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงรายไม่สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ตามแผน หลังติดปัญหาเรื่องงบประมาณ

โครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงรายไม่สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ตามแผน หลังติดปัญหาเรื่องงบประมาณ 

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กิโลเมตร วงเงิน 76,978.82 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 73,172 ล้านบาทและค่าเวนคืนที่ดิน 3,808 ล้านบาท ยังไม่สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ตามแผนแม้ว่าจะผ่านการกำหนดรายละเอียดแบบก่อสร้างและรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)แล้ว เนื่องจากรัฐบาลติดปัญหาเรื่องของงบประมาณที่จะนำมาก่อสร้าง รฟท.จึงยังไม่สามารถนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติเพื่อเดินหน้าประกวดราคาก่อสร้างได้

“ตอนนี้คงติดปัญหาเรื่องงบประมาณเพียงอย่างเดียว เพราะเรื่องอีไอเอผ่านตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนเรื่องค่าเวนคืนก็ไม่น่าจะมีปัญหาบานปลาย เพราะแนวเส้นทางก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นป่า”

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กิโลเมตรได้กำหนดรูปแบบการก่อสร้าง โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง เพื่อให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 26 สถานี แบ่งเป็นสถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี ได้แก่ สถานีเด่นชัย สถานีแพร่ สถานีพะเยา สถานีเชียงราย และสถานีขนาดเล็กอีก 9 สถานี รวมถึงป้ายหยุดรถไฟ 13 สถานี โดยมีแนวการก่อสร้างเริ่มจากที่อำเภอ เด่นชัย  จังหวัดแพร่ ผ่านพื้นที่ของ 3 จังหวัดแพร่-พะเยา-เชียงราย มีอุโมงค์ 3 แห่ง ประกอบด้วย อุโมงค์แรกยาวที่สุดในประเทศใน อ.สอง จ.แพร่ ยาว 6.4 กม.  อุโมงค์ที่สอง อ.เมืองพะเยา ยาว 2.8 กม. และอุโมงค์สุดท้าย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ยาว 3.6 กม. ตลอดระยะทางมีระบบป้องกันอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ เช่น สะพานข้าม ทางยกระดับ มีมูลค่าโครงการลงทุนรวมประมาณ 76,978 ล้านบาท

แหล่งข่าว กล่าวว่า ส่วนด้านโครงการรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 60,351 ล้านบาท ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการยื่นอีไอเอ มีทั้งสิ้น มี 14 สถานี คือ สถานีบ้านไผ่ สถานีกุดรัง สถานีบรบือ สถานีมหาสารคาม สถานีร้อยเอ็ด สถานีเชียงขวัญ สถานีโพนทอง สถานีหนองพอก สถานีนิคมคำสร้อย สถานีมุกดาหาร สถานีหว่านใหญ่ สถานีธาตุพนม สถานีเรณูนคร และสถานีนครพนม ตามแนวเส้นทางที่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม โดยเส้นทางนี้ยังเชื่อมการขนส่งสินค้าและการเดินทางกับประเทศเพื่อนบ้านที่มุกดาหาร บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ต่อไปถึงเวียดนาม และนครพนม ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3

“แม้ว่า 2 โครงการนี้จะอยู่ในแผนแอคชั่นแพลนระยะที่ 2 ของกระทรวงคมนาคม แต่ทางกระทรวงได้กำหนดไว้เพียงกำหนดให้เป็นโครงการที่สามารถเสนอ ครม.อนุมัติเท่านั้น ยังไม่สามารถก่อสร้างได้”