posttoday

พิษน้ำมันกดค่าภาคหลวง

20 มีนาคม 2560

กรมเชื้อเพลิงฯ รายได้ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมทรงตัวระดับ 4.2 หมื่นล้าน เหตุราคาน้ำมันยังนิ่ง

กรมเชื้อเพลิงฯ รายได้ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมทรงตัวระดับ 4.2 หมื่นล้าน เหตุราคาน้ำมันยังนิ่ง

นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองแผนงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้ค่าภาคหลวงจากสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมในปี 2560 จะอยู่ที่ระดับ 4.2 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2559 เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันตลอดทั้งปียังปรับขึ้นจากปัจจุบันไม่มากนัก โดยสัญญาณราคาน้ำมันตลาดโลกขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 50-60  เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่ขยายตัว

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศผู้ผลิตหลักมีแผนลดกำลังการผลิตลง ทำให้มีกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (เชล ออยล์) เพิ่มกำลังการผลิตเข้ามาป้อนตลาดทดแทน ทำให้ราคาดังกล่าวน่าจะคงที่ไปอีกประมาณ 3 ปี

ปัจจุบันรายได้ค่าภาคหลวงลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงปี 2555-2556 ที่เคยอยู่ในระดับ 6-6.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากแหล่งขุดเจาะในประเทศไทยเริ่มไม่จูงใจผู้ประกอบการ โดยการผลิตน้ำมันดิบในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.5-1.6 แสนบาร์เรล /วัน  การผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวอยู่ที่ระดับ 3,550 ล้านลูกบาศก์ฟุต ทำให้อนาคตอาจต้องมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นแทนการผลิตจากอ่าวไทย ประกอบกับขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในการเปิดสัมปทานรอบใหม่ ขณะที่การผลิตในแหล่งเดิมกำลังหมดอายุในปี 2565-2566 คือแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช แต่การเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เจาะอยู่ประมาณ 50-100 หลุม ในปี 2559 ลดลงมาอยู่ที่ 16 หลุม

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตกรมเชื้อเพลิงฯ จะเข้ามากำกับดูแลกิจการก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)  เนื่องจากจะมีการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่ขยายตัว โดยปัจจุบันไทยมีการนำเข้าแอลเอ็นจีประมาณ 3 ล้านตัน/ปี ขณะที่สถานีบรรจุก๊าซรองรับได้ 5 ล้านตัน/ปี และคาดการณ์ว่าช่วงปลายแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2558-2579 (แผนพีดีพี 2015) จะมีความต้องการใช้แอลเอ็นจีเติบโตถึง20 ล้านตัน/ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า  สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เสนอแนวทางการทำงานร่วมกับคณะทำงานสานพลังประชารัฐเกี่ยวกับพลังงานชีวภาพ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต ได้แก่ การพัฒนาดีโซฮอล์ที่จะเป็นการส่งเสริมให้มีการนำเอาไบโอดีเซลบี 7 มาผสมกับเอทานอล การพัฒนาก๊าซอัดแท่ง (ซีบีจี) จากมันสำปะหลังใช้แทนก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ในภาคขนส่ง ซึ่งแนวทางจะเป็นการกำหนดแผนพัฒนาในระยะยาว 10 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ รัฐได้หารือกับภาคเอกชนและคณะทำงานสานพลังประชารัฐเพื่อนำเสนอรูปแบบในการดำเนินการต่อไป นำไปสู่งานวิจัยและพัฒนาพลังงานในประเทศในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะไปช่วยการพึ่งพานำเข้าน้ำมันดิบ และใช้วัตถุดิบโดยเฉพาะจากพืชเกษตรในประเทศให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายศาณินทร์  ตริยานนท์   กรรมการบริษัท  น้ำมันพืชปทุม ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า การศึกษาวางแผนพัฒนาดีโซฮอล์ของภาครัฐน่าจะเป็นแผนการศึกษาในระยะยาว โดยยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะกำหนดแนวทางอย่างไรแน่ โดยยอมรับว่าหากสัดส่วนในการผสมเมื่อท้ายที่สุดแล้วทำให้การใช้ไบโอดีเซล (บี100) ลดต่ำลง ก็จะกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มแน่นอน