posttoday

"พาณิชย์"ตั้งเรื่องยึดทรัพย์นักการเมือง-เอกชนชดใช้ค่าเสียหายทีจูทีข้าว

11 กุมภาพันธ์ 2560

“พาณิชย์” เตรียมส่งหนังสือถึงกรมบังคับคดี14ก.พ.นี้ ยึดทรัพย์นักการเมืองและเอกชน 6 ราย มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ชดใช้ค่าเสียหายจีทูจีข้าว

“พาณิชย์” เตรียมส่งหนังสือถึงกรมบังคับคดี14ก.พ.นี้ ยึดทรัพย์นักการเมืองและเอกชน 6 ราย มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ชดใช้ค่าเสียหายจีทูจีข้าว 

เมื่อวันที่11ก.พ.60 เวลา 11.00น. น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และน.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ได้ร่วมแถลงเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการบังคับทางปกครอง สืบทรัพย์ ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินกรณีนักการเมืองและข้าราชการรวม 6 ราย ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีการขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าวว่า กรมบังคับคดีได้ส่งแบบฟอร์มที่จะต้องกรอกมาให้แล้ว คาดว่ากรมการค้าต่างประเทศจะดำเนินการ และคาดว่าวันอังคารที่ 14 ก.พ.นี้ เอกสารต่างๆ จะครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่กรมบังคับคดีขอมา และจะจัดส่งไปให้ได้ เพื่อดำเนินการตั้งเรื่องบังคับทางปกครองให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชดเชยค่าเสียหายต่อไป

“กรมการค้าต่างประเทศประสานข้อมูลกับกรมบังคับคดีมาตลอด แต่เหตุผลที่การดำเนินการล่าช้า เพราะแต่ละหน่วยงานไม่ได้มีประสบการณ์ในการดำเนินการในกรณีลักษณะนี้ ไม่ใช่เป็นการดึงเรื่อง แต่มีรายละเอียดการทำงานค่อนข้างมาก ซึ่งภายในวันที่ 14 ก.พ.นี้กระทรวงพาณิชย์จะส่งแบบฟอร์มทั้งหมดให้ได้” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

นางดวงพร กล่าวว่า กรมได้มีการหารือกับกรมบังคับคดีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ส.ค.2559 แต่เนื่องจากกรณีนี้ที่จะมีการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง กรมยังไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินการมาก่อน และมีขั้นตอนทางเทคนิคค่อนข้างมาก จึงต้องมีการหารือกันต่อไปในการดำเนินการตามขั้นตอน โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่มีความขัดแย้ง หรือความผิดพลาดในการดำเนินการแต่อย่างใด มีการหรือกันมาโดยตลอด เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ
           
ส่วนขั้นตอนการในการสืบทรัพย์เพื่อส่งเรื่องไปยังกรมบังคับคดีในการตั้งเรื่องเพื่อใช้มาตรการทางปกครองนั้น กรมฯ จะต้องหารือกับกรมบังคับคดีว่าต้องการข้อมูลในด้านใดบ้าง เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่เอกสารเบื้องต้นก่อนหน้านี้ได้มีการส่งให้ไปบ้างแล้ว
          
ด้าน น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า ได้มีการตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 56/2559 ซึ่งมีรองอธิบดีกรมบังคับคดีที่ดูแลสายงานคดีทางแพ่ง เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยกรมการค้าต่างประเทศ โดยประสานในการยื่นคำขอตั้งสำนวนยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 ราย ไปตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 จากนั้นมีการประสานงานกับกรมการค้าต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

“คดีนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 57 ซึ่งอนุญาตให้นำวิธีพิจาณาความแพ่ง (วิ.แพ่ง มาตรา 271) มาใช้โดยอนุโลม โดยจะเริ่มจาก โจทก์ (กรมการค้าต่างประเทศ) ยื่นตั้งเรื่องยึดอายัดทรัพย์ พร้อมวางค่าใช้จ่าย และส่งเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะยึด ซึ่งขั้นตอนนี้ทางฝ่ายโจทก์ต้องเป็นผู้ไปดำเนินการสืบทรัพย์ หาข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 ราย  มีทรัพย์สินรายการใดบ้าง และต้องมีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โฉนดที่ดินต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานที่ดิน เป็นต้น มาประกอบการพิจารณา” น.ส.รื่นวดี กล่าว

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี จะพิจารณาคำขอยึดทรัพย์  จากนั้นจะรายงานต่อศาล เพื่อขออนุญาตขายทรัพย์ซึ่งจะเข้าไปสู่ขั้นตอนการขายทอดตลาด แต่หากรายการทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ 6 ราย ไม่เพียงพอต่อมูลค่าหนี้ที่ต้องชำระ ทางกรมฯ จะรายงานต่อศาล ว่ามูลค่าทรัพย์ไม่เพียงพอกับมูลค่าหนี้ เพื่อให้โจทก์พิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ การพิจารณาความแพ่งมีอายุความ 10 ปี