posttoday

รุมซื้อซองประมูลรถไฟทางคู่

07 มกราคม 2560

ประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นคึกคัก เอกชน 36 ราย แห่ซื้อซองประกวดราคา รอเคาะ 1 มี.ค.

ประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นคึกคัก เอกชน 36 ราย แห่ซื้อซองประกวดราคา รอเคาะ 1 มี.ค.

นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา รฟท.ได้เปิดขายเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชั่น) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 668 กิโลเมตร (กม.) มูลค่ารวม 9.58 หมื่นล้านบาท ซึ่งปรากฏว่ามีเอกชนสนใจซื้อเอกสารทั้งหมด 36 ราย รวม 144 ซอง ซึ่งถือว่ามากกว่าเป้าหมายที่คาดไว้มาก จากที่คาดว่าจะมีผู้ซื้อซอง 30 ราย

สำหรับจำนวนผู้ซื้อซองแบ่งเป็น 1.เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท จำนวน 31 ราย 2.เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 9,800 ล้านบาท จำนวน 31 ราย 3.เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท จำนวน 31 ราย 4.เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กม. วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท จำนวน 28 ราย และ 5.เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 132 กม. วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท จำนวน 23 ราย

ทั้งนี้ สาเหตุที่มีผู้ซื้อซองประกวดราคาเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ และเส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ น้อยกว่าเส้นทางอื่น เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ก่อสร้างยากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ โดยเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ต้องสร้างเป็นทางยกระดับในพื้นที่เลี่ยงเมือง ส่วนเส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ต้องมีการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน

นายประเสริฐ กล่าวว่า จะเปิดให้มีการยื่นข้อเสนอด้านราคา 2 วัน คือ วันที่ 1-2 มี.ค. และทราบผลการประกวดราคาภายในวันนั้น จากนั้น รฟท.ต้องเจรจากับผู้เสนอราคาต่ำสุดก่อนเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ทั้งหมดภายในเดือน มี.ค. 2560

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีผู้ทักท้วงเรื่องเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการประกวดรถไฟทางคู่ทั้ง 5 เส้นทาง ว่า รฟท.ได้ชี้แจงข้อสงสัยกับผู้ที่มีข้อห่วงใยในทุกประเด็น โดยจะรายงานให้บอร์ด รฟท.รับทราบในกลางเดือน ม.ค.นี้ โดยมั่นใจว่าสามารถชี้แจงประเด็นต่างๆ ได้และไม่มีประเด็นใดที่จะทำให้การประมูลหยุดชะงัก โดยโครงการรถไฟทางคู่จัดเป็นโครงการพิเศษและมีมูลค่าสูง ดังนั้น ทีโออาร์จึงแตกต่างจากการจัดซื้อจัดจ้างทั่วๆ ไป เพราะต้องพิจารณาเงื่อนไขทีโออาร์ให้ได้งานที่มีคุณภาพและไม่เกิดปัญหา

รายงานข่าวจาก รฟท. เปิดเผยว่า รฟท.ได้แบ่งเอกชนที่ซื้อซองประกวดราคาเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ซื้อเอกสารประกวดราคาทั้ง 5 โครงการ มีทั้งหมด 21 ราย เช่น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น บริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอ็นยิเนียริ่ง (1964) China Harbour Engineering Company

กลุ่มที่ 2 ซื้อเอกสารประกวดราคา 4 โครงการ 3 ราย ได้แก่ บริษัท ศักดาพร บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง และบริษัท เคเทค คอนสตรัคชั่น กลุ่มที่ 3 ซื้อเอกสารประกวดราคา 3 โครงการ มีจำนวน 6 ราย เช่น China Railway 11th Bureau บริษัท สระหลวงก่อสร้าง บริษัท KRNA Korea Rail Network

กลุ่มที่ 4 ซื้อเอกสารประกวดราคา 2 โครงการ 3 ราย ได้แก่ บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง บริษัท ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง และกลุ่มที่ 5 ซื้อเอกสารประกวดราคา 1 โครงการ มีจำนวน 3 ราย ได้แก่ กิจการร่วมค้าซีเคเอส บริษัท เค.เอส.ร่วมค้า และ 3.China Railway 23rd Bureau Group