posttoday

ชงสองมาตรการ ลดการใช้พลังงาน

13 ธันวาคม 2559

พพ.เดินหน้าแผนอนุรักษ์พลังงานประเทศ ดึงเอกชนร่วมสร้าง เครือข่าย พร้อมทำโรดแมปมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานใหม่บังคับใช้ปี 2560

พพ.เดินหน้าแผนอนุรักษ์พลังงานประเทศ ดึงเอกชนร่วมสร้าง เครือข่าย พร้อมทำโรดแมปมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานใหม่บังคับใช้ปี 2560

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ พลังงาน (พพ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการดำเนินงานภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (อีอีพี 2015) ปี 2558 -2579 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปฏิบัติการในเชิงรุกใน 2 รูปแบบ ทั้งการจัดทำมาตรการบังคับใช้ในทางกฎหมาย และแผนการรณรงค์เชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งทั้งสองแนวทางจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ โดยมีเป้าลดสัดส่วนการใช้พลังงานให้ได้ 30% ภายในปี 2579

ทั้งนี้ การทำงานในปี 2560 จะเน้นเรื่องอาคารอนุรักษ์พลังงานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งการออกมาตรการบังคับและมาตรการจูงใจเพื่อให้เอกชนมีส่วนร่วม ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีแนวทางส่งเสริมการออกแบบอาคารประหยัดพลังงานโดยภาคสมัครใจ ขณะนี้มีผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์เข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย เพื่อการออกแบบอาคารประหยัดพลังงานแล้ว ได้แก่ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ ที่กำหนดแผนจัดการพลังงานในระยะยาว ทั้งโครงการเก่า และโครงการที่ก่อสร้างใหม่

สำหรับมาตรการบังคับ ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ให้อาคารที่จะขออนุญาตสร้างใหม่ หรือดัดแปลงอาคารเพิ่มเติมที่มีขนาดตั้งแต่ 1 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) ขึ้นไป จะต้องออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร (บิวล์ดิ้ง เอนเนอร์ยี่ โค้ด) คาดว่าจะบังคับใช้ตั้งแต่กลางปี 2560 ครอบคลุมอาคาร 9 ประเภท ได้แก่ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงาน อาคารชุด อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรม อาคารสถานบริการ และอาคารศูนย์การค้า หรือห้างสรรพสินค้า

นอกจากนี้ ในปี 2562 จะบังคับอาคารใหม่ ต่อเติม ปรับปรุงที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตร.ม.ขึ้นไป และปี 2565 จะเป็นอาคารสร้างใหม่ทั้งภาครัฐและเอกชนพื้นที่เกิน 2,000 ตร.ม.

"ผู้ประกอบการที่เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร อาจจะได้รับผลต่อต้นทุนการก่อสร้างอาคารที่เพิ่มขึ้น 5-10% แต่ในภาพรวมของการใช้พลังงานที่ลดลงไปนั้นจะสามารถคืนต้นทุนได้ภายใน 5-7 ปี นับเป็นผลดีต่อการประหยัดพลังงานของประเทศที่ลดลงไปอย่างมีประสิทธิภาพ" นายประพนธ์ กล่าว