posttoday

รฟม.จ้าง "BEM" เดินรถเชื่อมสถานีเตาปูน-บางซื่อ

07 ธันวาคม 2559

รฟม.ลุยจ้างBEM เดินรถเชื่อมสถานีเตาปูน-บางซื่อ ภายในส.ค.60 พร้อมเสนอเดินหน้า "สายสีม่วงใต้" เข้าครม.ภายในเดือนนี้

รฟม.ลุยจ้างBEM เดินรถเชื่อมสถานีเตาปูน-บางซื่อ ภายในส.ค.60 พร้อมเสนอเดินหน้า "สายสีม่วงใต้" เข้าครม.ภายในเดือนนี้ 

นายพีรยุทธ  สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้ รฟม. ดำเนินการว่าจ้าง บริษัททางด่วนรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เข้ามาดำเนินการติดตั้งระบบการเดินรถ 1 สถานี ช่วงระหว่างสถานีเตาปูนกับสถานีบางซื่อ  ในระหว่างที่การเจรจาตกลงว่าจ้าง BEM เข้ามาให้บริการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อท่าพระยังไม่ได้ข้อสรุป   โดย รฟม.ได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมแล้วคาดว่าจะผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ภายในเดือน ธ.ค.นี้  จากนั้นเร่งดำเนินการว่าจ้างภายใน ม.ค.2560   โดย BEM  จะใช้ระยะเวลาในการติดตั้งระบบการเดินรถประมาณ 6 เดือนและทดสอบอีกไม่เกิน 2 เดือน คาดว่าจะเปิดเดินรถเชื่อมต่อ 1 สถานีดังกล่าวได้ภายใน ส.ค.นี้

นายพีรยุทธกล่าวว่า วงเงินรวม 745 ล้านบาทแบ่งเป็นเงินลงทุน 693 ล้านบาทและค่าเดินรถรวมเวลา 2 ปี อีก 52 ล้านบาทคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในช่วงต้นเดือนมกราคม ส่วนขั้นตอนการเจรจาว่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินนั้นจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 16 ธ.ค.นี้  เพื่อสรุปรายละเอียดข้อเสนอเสนอให้ สคร.พิจารณา  คาดว่าจะครม.จะอนุมัติได้ในเดือน ก.พ.2560 รวมระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี  พร้อมสัญญาสัมปทาน 30 ปี จะสิ้นสุดในปี 2592 

ด้านนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่า รฟม. กล่าวว่า ภายหลังจากกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture)  ที่มี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS Group), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)  เป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด ขั้นตอนจากนี้ ภายในสัปดาห์หน้าจะเรียก กิจการ่วมค้า BSR  มาเจรจาต่อรองและตกลงในรายละเอียดต่างๆ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน  คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายใน เม.ย. 2559 โดยหลังจากนี้จะส่งร่างสัญญาให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ ก่อนสรุปรายละเอียดเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และกระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อส่งต่อไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อขออนุมัติต่อไป

นายธีรพันธ์กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอซอง 3 หรือข้อเสนอเพิ่มเติมนั้น ที่มีการขยายแนวรถไฟฟ้านั้นไม่มีผลต่อการพิจารณาแต่จะเปิดหลังจากคัดเลือกผู้ที่ผ่านการพิจารณาสูงสุด ทั้งนี้มองว่าเป็นข้อเสนอที่ดีเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งอำนวยความสะดวกประชาชน โดยเฉพาะข้อเสนอในการต่อเชื่อมเส้นทางไปยังเมืองทองธานีและเชื่อมต่อจากสถานีลาดพร้ามายังสถานีรัชโยธินนั้น เอกชนจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเองทั้งหมดและไม่เป็นเหตุให้มีการขยายระยะเวลาในการก่อสร้างด้วย

นายพีรยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอเพิ่มเติมจะต้องพิจารณาว่าจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือทับซ้อนกับแผนพัฒนาที่ดินของหน่วยงานรัฐบาล

ทั้งนี้การพิจารณาเบื้องต้นพบว่าส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วงจะไม่มีผลกระทบกับแผนแม่บทการดำเนินโครงการอื่นๆ 

อย่างไรก็ตามคาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน- ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23 กม. มูลค่างานกว่า 9 หมื่นล้านบาท จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในเดือนธันวาคมเป็นโครงการสุดท้ายในปีนี้ที่จะเข้าสู่ครม.