posttoday

กฟภ.ลงทุน6หมื่นล้าน

02 พฤศจิกายน 2559

ครม.อนุมัติ กฟภ.ลงทุน 6.2 หมื่นล้าน โครงการระบบส่งและจำหน่ายไฟ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

ครม.อนุมัติ กฟภ.ลงทุน 6.2 หมื่นล้าน โครงการระบบส่งและจำหน่ายไฟ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 พ.ย.  2559 ได้อนุมัติให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 1 ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2564 วงเงินลงทุนรวม 62,678.71 ล้านบาท

สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของระบบส่งและระบบจำหน่ายให้สามารถจ่ายไฟฟ้าอย่างปลอดภัยเป็นมาตรฐานสากล รวมถึงการเชื่อมโยงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ธุรกิจอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แหล่งชุมชนต่างๆ ทั้งผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่และพื้นที่สำคัญ

ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายในพื้นที่ 12 เขตของ กฟภ.เป็นการลงทุนในงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าและระบบส่ง 115 เควี งานก่อสร้างระบบไฟฟ้า 115 เควี เพื่อเพิ่มความเชื่อถือได้ งานก่อสร้างระบบจำหน่ายแรงสูง 22/33 เควี งานก่อสร้างระบบจำหน่ายแรงต่ำ งานจัดซื้อที่ดินล่วงหน้าสำหรับก่อสร้างสถานีไฟฟ้าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี ระหว่างปี 2559-2564 มีอัตราผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 11.30% และผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ 14.40% สำหรับแหล่งทุนสำหรับการลงทุนนั้น ประกอบด้วยเงินกู้ในประเทศ 47,009 ล้านบาท รายได้ของ กฟภ. 15,669.71 ล้านบาท รวม 62,678.71 ล้านบาท

นายณัฐพร กล่าวว่า ในการประชุมกระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า โครงการนี้มีการลงทุนขนาดใหญ่ และวงเงินสูง ขอให้กระทรวงมหาดไทยขออนุมัติโครงการตามขั้นตอนกฎหมายและเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อนเสนอ ครม.เป็นรายโครงการ

ด้านกระทรวงพลังงานเห็นว่าหากต้องการไฟฟ้าเพิ่มแต่ละจุด กฟภ.ควรหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจากพบว่าโครงการยัง ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในประเด็นการพัฒนา เพื่อรองรับการเชื่อมโยงกับระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและ พลังงานทางเลือก จึงเห็นควรให้ กฟภ.ทำแผนการบริหารจัดการของระบบสายส่งไฟฟ้าด้วย ส่วนสำนักงบประมาณเห็นว่า กฟภ.ควรบริหารความเสี่ยงและควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ รวมถึงให้ความสำคัญกับ แผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินที่ชัดเจน