posttoday

ดีเดย์บัตรเดียวขึ้นได้ทั้งทางด่วน-มอเตอร์เวย์เที่ยงคืน31ต.ค.นี้

31 ตุลาคม 2559

คมนาคมดีเดย์ระบบเชื่อมต่อตั๋ว M-pass และ Easy-pass จำนวน 9 เส้นทาง ลุยพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางใหม่

คมนาคมดีเดย์ระบบเชื่อมต่อตั๋ว M-pass และ Easy-pass จำนวน 9 เส้นทาง ลุยพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางใหม่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้ได้ลงนามสบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อดำเนินการติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ ETCH (Electronic Toll Collection System) เชื่อมต่อระหว่างบัตร M-pass และ Easy-pass เพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บค่าผ่านทาง โดยใช้บัตรเพียงใบเดียว ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการใช้ระบบอีเล็กทรอนิกส์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางทุกระบบเข้าด้วยกันในรูปแบบ E-ticket เพื่อส่งเสริมระบบการชำระเงินแบบ cashless อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ รวม 9 เส้นทาง ได้แก่

ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษฉลองรัช (ทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (ทางด่วนสายบางพลี-สุขสวัสดิ์) ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี) ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รวมถึงเส้นทางมอเตอร์เวย์ทางหลวงหมายเลข 9 (บางปะอิน-บางพลี) และมอเตอร์เวย์ทางหลวงหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี)

ทั้งนี้จะเริ่มเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการภายหลังเวลาเที่ยงคืน (24.00 น.) ของวันที่ 31 ต.ค. 2559 เป็นต้นไป นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ สามารถใช้บัตรเพียงใบเดียว ภายใต้ความร่วมมือของการทางพิเศษ(กทพ.) กรมทางหลวง(ทล.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) และธนาคารกรุงไทย เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับระบบจราจรบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางที่มักมีปัญหาจราจรติดขัดในช่วงที่มีผู้ใช้จำนวนมากโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนและวันหยุดยาวเทศกาล

"ในขณะนี้มีผู้ใช้บริการทางด่วนประมาณวันละ 1.8 ล้านเที่ยวต่อวันขณะที่ผู้ใช้บริการมอเตอร์เวย์นั้นอยู่ที่หลักแสนคน ทำให้มั่นใจว่าหากเชื่อมต่อทั้งสองระบบเข้าด้วยกันแล้ว จะทำให้มีผู้หันมาใช้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติในระบบ E-ticket มากขึ้น ส่วนด้านค่าเข้าระบบในช่วงเริ่มแรกของบัตรแต่ละใบนั้นยังคงแยกกันตามเงื่อนไขเหมือนเดิม ยังคงไม่เป็นเก็บค่าแรกเข้าในอัตราร่วมกัน

ส่วนด้านการพัฒนาระบบ M-pass และ Easy-pass ในอนาคตจะมีการปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษเป็นระบบ Multilane Free Flow หรือ การนำไม้กั้นออกเพื่อให้รถสามารถผ่านด่านเก็บเงินได้ โดยไม่ต้องจอดจ่ายค่าผ่านทาง และมีระบบเซนเซอร์อัตโนมัติเชื่อมต่อระบบจัดเก็บค่าโดยสารกับรถทุกคัน ซึ่งตามแผนคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงปี 2561-2562"นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing System) หรือ “ตั๋วแมงมุม” สำหรับการเดินทางในภาคขนส่งได้ทุกระบบ ซึ่งจะช่วยลดเวลาการซื้อตั๋วโดยสาร ตลอดจนหลีกเลี่ยงค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อนในการเดินทางมากกว่าหนึ่งเส้นทางขึ้นไป คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในช่วงกลางปีหน้าประกอบไปด้วย ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส รถใต้ดินและแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนรถเมล์นั้นต้องรอการติดตั้งระบบอ่านตั๋วร่วมในรถเมล์ 2 พันคันให้แล้วเสร็จเสียก่อน หลังจากได้ตัวบริษัทที่จะเข้ามาบริหาร ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อขอความเห็นชอบโครงการให้เอกชนร่วมทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทจัดการรายได้กลางในรูปแบบเอกชนร่วมโครงการรัฐฯ (พีพีพี) แมงมุมพาสเป็นของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ต้องมีบริษัทเข้ามาดูแลเรื่องบริหารศูนย์จัดการตั๋วร่วมตลอดจนระบบจัดการรายได้กลางระบบทางอัตโนมัติ(Clearing house) ซึ่งตอนนี้การวางระบบเสร็จแล้ว

อีกทั้งอนาคตจะออกกฎหมายกลางเพื่อมาดูแลเรื่องของ Common Fair นำมาปรับใช้กับระบบตั๋วแมงมุมเพื่อปรับอัตราค่าบริการแรกเข้าและอัตราเริ่มต้นให้เป็นเรทเดียวกันทั้งหมด ซึ่งจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ ขณะนี้ได้สั่งให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ไปร่างกฎหมายดังกล่าวก่อนประกาศใช้ต่อไป

ด้านนายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรอีซี่พาสดังกล่าวประมาณ 1.2 ล้านใบ แต่ไม่ค่อยนำมาใช้บริการ หรือและนำมาใช้จริงเพียง 5-6 แสนใบ กทพ.จึงเชื่อว่าปริมาณผู้ที่ต้องการใช้บัตรดังกล่าวไม่น่าจะเพิ่มขึ้นภายหลังจากเชื่อมต่อบัตรทั้งสองใบแล้วเนื่องจากผู้ใช้แต่ละรายมีบัตรอยู่แล้ว ทั้งนี้ในอนาคตกทพ.จะมีมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการบัตร Easy pass มากขึ้น โดยจะเชื่อมโยงระบบจัดเติมเงินให้เป็นแบบ Mobile-top up application ที่สามารถใช้งานได้ในมือถือเพื่อเพิ่มแรงจูงในการใช้ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของบัตร Easy-pass เพื่อแก้ปัญหาจราจรหน้าด่านให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ผู้ใช้บัตรดังกล่าวสามารถใช้บัตรที่มีอยู่ได้ทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนบัตร ทั้งนี้หากมีบัตรทั้งสองประเภทควรเลือกใช้เพียงใบเดียวในการผ่านทางเพียงใบเดียวเนื่องจากไม่ว่าจะเป็นบัตรใดก็สามารถผ่านช่องทางได้ แต่ทั้งนี้ระบบจะไม่ตัดชำระค่าผ่านทางบางส่วน หากมีวงเงินในบัตรไม่พอก็จะไม่สามารถผ่านด่านเก็บเงินได้ (ในกรณีที่ค่าบริการ 50 บาท แต่บัตร M-pass มีวงเงินเพียง 20 บาท จะไม่สามารถไปตัดเงินในบัตร Easy-Pass ได้ ) อย่างไรก็ตามผู้ใช้สามารถตรวจสอบยอดเงินคงเหลือในบัตรได้โดยผ่านทางเว็บไซต์ www.thaim-pass.com และ www.thaieasypass.com

ตลอดจนตรวจสอบผ่าน M-Pass Mobile application หรือ call center โทร 1586 กด 9 (M-Pass) และ 1543 (Easy-Pass) โดยแจ้งหมายเลขรหัสบัตรให้กับพนักงาน ส่วนด้านการเติมเงินนั้นผู้ใช้สามรถเติมเงินผ่านเครื่อง ATMและระบบ Internet banking/Mobile Application ทุกธนาคารยกเว้นตู้ ATM ของธนาคารยูโอบี ตลอดจนหน่วยบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขา แต่ทว่าต้องเติมเงินผ่านช่องทางที่แต่ละบัตรแจ้งไว้เท่านั้นไม่สารถเติมเข้ามโครงข่ายได้นอกจากนี้ยังไม่สามารถโอนเงินข้ามระหว่างบัตรทั้งสองชนิดนี้ได้อีกด้วย