posttoday

"สามารถ"เตือนรถไฟฟ้าสายสีชมพูผู้โดยสารจะโหรงเหรง

02 ตุลาคม 2559

"สามารถ ราชพลสิทธิ์" เตือนรถไฟฟ้าสายสีชมพูอาจมีผู้โดยสารไม่มากตามที่ รฟม.ได้คาดการณ์ไว้ เหตุคนต้องเปลี่ยนรถอย่างน้อย 1 ครั้งทำให้ไม่สะดวก

"สามารถ ราชพลสิทธิ์" เตือนรถไฟฟ้าสายสีชมพูอาจมีผู้โดยสารไม่มากตามที่ รฟม.ได้คาดการณ์ไว้ เหตุคนต้องเปลี่ยนรถอย่างน้อย 1 ครั้งทำให้ไม่สะดวก

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโดยระบุว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ที่อยู่ระหว่างกำลังประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถ มีความเสี่ยงที่จะมีผู้โดยสารใช้บริการน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เนื่องจากต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าอย่างน้อยหนึ่งครั้งจึงจะสามารถเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองได้ ทำให้เกิดความไม่สะดวกและเสียเวลา

โดยนายสามารถโพสต์ข้อความไว้ดังนี้

เตือน! รถไฟฟ้าสายสีชมพู ผู้โดยสารจะโหรงเหรง

ขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 53,490 ล้านบาท (เป็นค่างานโยธา 20,135 ล้านบาท) โดยมีเส้นทางเริ่มจากบริเวณทางแยกแครายซึ่งเป็นจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ วิ่งบนถนนติวานนท์จนถึงห้าแยกปากเกร็ด แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ ผ่านเมืองทองธานี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่แยกหลักสี่บนถนนวิภาวดีรังสิต และเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ บริเวณอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญบนถนนพหลโยธิน ต่อจากนั้นจะวิ่งบนถนนรามอินทราจนถึงมีนบุรีโดยมีปลายทางที่แยกถนนรามคำแหง-ร่มเกล้า ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าสายนี้เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล (Monorail)

จากเส้นทางดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูมีเส้นทางเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวน ทำหน้าที่ป้อนผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สีแดง สีเขียว และสีส้ม เพื่อเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองต่อไป กล่าวได้ว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ต้องการเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง มีส่วนน้อยเท่านั้นที่เดินทางระหว่างแคราย-เมืองทองธานี-ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ-มีนบุรี นั่นหมายความว่า ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนใหญ่จะต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าอย่างน้อยหนึ่งครั้งจึงจะสามารถเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองได้ ทำให้เกิดความไม่สะดวกและเสียเวลา อีกทั้ง ตลอดแนวเส้นทางมีแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งทำงานที่มีคนหนาแน่นเฉพาะที่เมืองทองธานี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีผู้โดยสารไม่มากตามที่ รฟม.ได้คาดการณ์ไว้

ปริมาณผู้โดยสารตามที่ รฟม.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ศึกษาไว้พบว่าในปีแรกที่เปิดให้บริการคือปี พ.ศ.2562 (ถึงเวลานี้เปิดไม่ทันแน่) จะมีผู้โดยสารถึงวันละประมาณ 181,000 คน ซึ่งผมมั่นใจว่าเมื่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการจริงจะมีผู้โดยสารน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

การประมูลรถไฟฟ้าสายนี้ รฟม.ได้ประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยบริษัทที่จะได้รับการคัดเลือกจะต้องมีข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม.ดีที่สุด แม้ว่าจะมีบริษัทซื้อซองเอกสารประกวดราคาหลายรายก็ตาม แต่เมื่อถึงเวลายื่นซองในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 อาจไม่มีบริษัทใดยื่นซองหรือมีเพียงน้อยรายที่จะยื่นซองก็ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะเอกชนรู้ดีว่าถ้าเขาลงทุนเป็นสัดส่วนจำนวนมากจะขาดทุนแน่นอน เนื่องจากจะมีผู้โดยสารน้อยไม่คุ้มค่ากับการลงทุน กอปรกับเขาได้เห็นตัวอย่างจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่มีผู้โดยสารน้อยมาก ทำให้ รฟม.ต้องแบกภาระการขาดทุนถึงวันละประมาณ 3.5 ล้านบาท เอกชนได้เห็นตัวเลขการขาดทุนหนักดังกล่าวแล้วผวา ไม่กล้าลงทุนเพราะเขาไม่ยอมขาดทุนอย่างแน่นอน

อีกทั้ง เอกชนที่เป็นผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม อาจจะไม่ยื่นซองประกวดราคาก็ได้ เพราะเขาไม่ต้องการแบกภาระการขาดทุน สู้อยู่เฉยๆ ไม่ได้ เพราะหากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูจริงก็จะทำให้มีการขนผู้โดยสารมาป้อนเข้าสู่รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ซึ่งจะทำให้ทั้งบีทีเอสและบีอีเอ็มมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องลงทุน

ด้วยเหตุนี้ หาก รฟม.ไม่สามารถหาเอกชนมาร่วมลงทุนได้ ผมขอเสนอให้ รฟม.ชะลอการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูไว้ก่อน ไม่ต้องการให้ รฟม.ลงทุนก่อสร้างเองทั้งหมด เพราะจะประสบปัญหาการขาดทุนเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง เก็บเงินไว้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายอื่นที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารมากดีกว่า เช่นสายสีส้ม เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าตามแผนแม่บท แต่จะต้องจัดลำดับความสำคัญของเส้นทางเสียใหม่ เส้นทางใดควรสร้างก่อน เส้นทางใดควรสร้างหลัง ไม่ใช่เลือกที่จะสร้างเส้นทางที่ไม่ต้องเวนคืนที่ดินหรือเวนคืนน้อย แต่จะต้องพิจารณาถึงความต้องการในการเดินทางว่ามีผู้โดยสารมากน้อยเพียงใด อย่าสร้างไว้รอผู้โดยสารเลยครับ เสียดายเงิน!