posttoday

ฉัตรชัยบินถกยุโรป แจงแก้ปัญหาไอยูยู

20 กันยายน 2559

“พล.อ.ฉัตรชัย” เตรียมบุกยุโรปแจงปัญหาไอยูยู ด้านชาวเรืออัดมาตรา 44 ล็อกพังงาเรือจอดแค่ปาหี่ตบตาอียู

“พล.อ.ฉัตรชัย” เตรียมบุกยุโรปแจงปัญหาไอยูยู ด้านชาวเรืออัดมาตรา 44 ล็อกพังงาเรือจอดแค่ปาหี่ตบตาอียู

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมเดินทางไปชี้แจงกับสหภาพยุโรปในเรื่องความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) ในเร็วๆ นี้ ซึ่งไม่ว่าอียูจะพิจารณาสถานะของไทยอย่างไร แต่การประมงของไทยต้องพัฒนาและปรับปรุงสู่สากลทั้งหมด เพื่อพัฒนาการประมงสู่ความยั่งยืนสู่ไทยแลนด์ 4.0

“การประมงไทยต้องปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ทั้งมาตรการทางกฎหมาย การเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย การติดตามเส้นทางเดินเรือ ปัญหาการแก้ไขปัญหาแรงงานและระบบตรวจสอบย้อนกลับในช่วงปลายปี คิดว่าจะเดินทางไปชี้แจงกับอียูเองว่าได้มีการแก้ไขปัญหามาต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อสังเกตต่างๆ ของอียู” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ด้าน นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานของกรมประมงและศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย
(ศปมผ.) ทำงานโดยไม่ได้รับฟังชาวประมงมาตั้งแต่ต้นทำให้การแก้ล่าช้า ออกกฎหมายที่ทำไม่ได้และต้องตามมาแก้ไข สร้างความเดือดร้อนให้ประมงพื้นบ้านเป็นหมื่นครัวเรือน ล่าสุดกรมประมงได้เสนอนายกรัฐมนตรีออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง 2559 วันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ต้องนำคนงานต่างด้าวที่จะออกเรือมาทำหนังสือ ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากมาก เรือต้องจอดอีกจำนวนมาก เพราะการที่ลูกเรือต่างด้าวได้อนุญาตจากกระทรวงแรงงานก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย กล่าวว่า การออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้เรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำประมงต้องแจ้งจอด และเจ้าหน้าที่ล็อกพังงา หรือพวงมาลัยเรือ และไม่ต้องเปิดสัญญาการติดตามเรือ (วีเอ็มเอส) นั้น เป็นการทำแบบปาหี่ที่ต้องการแก้ไขตามข้อสังเกตของอียูเท่านั้น เท่าที่เห็นเรือประมงพาณิชย์ที่ไม่ได้ออกทะเลก็จะต้องมี การติดเครื่องวีเอ็มเอสเช่นกัน ทำให้กรมประมงต้องมาออกมาตรา 44 ดังกล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เชื่อว่าหากอียูทราบก็คงไม่พอใจ เพราะความหมายตามข้อสังเกตของอียูคือเรือที่ไม่ได้ใบอนุญาตทำประมงก็ต้องเอาออกจากระบบ เพราะจะเป็นเครื่องมือทำผิดเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องทำคือการเร่งดำเนินการซื้อเรือออกนอกระบบซึ่งมีนับพันลำ แต่รัฐคาดว่าจะมีงบประมาณในการซื้อประมาณ 100 ลำเท่านั้น

ภาพประกอบข่าว