posttoday

กสอ.ขานรับไทยแลนด์4.0หนุนอุตฯอิเล็กทรอนิกส์

09 กันยายน 2559

กสอ.ขานรับยุทธศาสตร์ชาติ ดันไทยแลนด์ 4.0 เร่งส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

กสอ.ขานรับยุทธศาสตร์ชาติ ดันไทยแลนด์ 4.0 เร่งส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันประเทศไทย เข้าสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยการขับเคลื่อนของ กสอ.จะเน้นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สู่ยุทธศาสตร์ประเทศ ได้แก่  กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  คือ การนำชิ้นส่วนหรือกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไปต่อยอดในอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับการผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทั้งอุตสาหกรรมขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ไมโครชิพ  และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต คือการนำชิ้นส่วนหรือกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้เกิดระบบการควบคุมอัจฉริยะในขั้นตอนการผลิตของอุตสาหกรรมโดยตรง เช่น หุ่นยนต์ในระบบการผลิตอัตโนมัติ แขนกลประกอบเครื่องจักร
ทั้งนี้เป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อผลักดันนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต รวมทั้งขยายฐานการลงทุนของบริษัทที่อยู่ในไทย ให้เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2558 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออกกว่า 1.1 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนในการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 9.45 แสนล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 2559 จะมีการเติบโตมากกว่า 6.5% โดยปี 2560 กสอ. มีแนวทางการดำเนินงานและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม โครงการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ การพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น  ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท และมีเป้าหมายพัฒนาสถานประกอบการให้ได้ประมาณ 200 กิจการ บุคคลากร 2,000 คน

นายสมควร ฉายศิลปรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัมมิท อิเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ จำกัด  ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผลิตแผงวงจรเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุปกรณ์เสริมในรถยนต์ กล่าวว่า ยอดขายในปีที่ผ่านมาของซัมมิทฯ มีมูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท สัดส่วนในการดำเนินธุรกิจแบ่งเป็น การรับจ้างผลิต 25% การรับซื้อและผลิตชิ้นส่วน 65% และ ส่วนที่เหลือ 10% เป็นการออกแบบการผลิตเองโดยบริษัท ซึ่งเป็นด้านเครื่องใช้ไฟฟ้า 90%  และรถยนต์ 10% โดยผลิตให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลกมากมาย เช่น นิสสัน ฮอนด้า โซนี่ พานาโซนิค เป็นต้น

“ถึงเวลาแล้วที่หลายอุตสาหกรรมจำเป็นต้องยกระดับการเปลี่ยนแปลงจากการที่รับจ้างธรรมดา มาเป็นการผลิตที่มีการสร้างแบรนด์ของตัวเอง และการผลิตที่มีรูปแบบการพัฒนาดีไซน์รูปแบบสินค้าได้เอง ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้นในทางอุตสาหกรรม โดยแผนขั้นต่อไปของบริษัทคือการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสู่การออกแบบแบรนด์สินค้าเพื่อคนไทย รวมทั้งจะทดแทนการนำเข้าสู่การผลิตด้วยฝีมือคนไทย ออกแบบและสร้างแบรนด์โดยคนไทย โดยบริษัทได้กำหนดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาใน 3 ทิศทาง คือ 1. การเพิ่มยอดขายให้เข้าสู่ธุรกิจหมื่นล้าน ด้วยนวัตกรรมการออกแบบและสร้างแบรนด์ของตนเอง  2. การลดข้อผิดพลาดด้วยการพัฒนาเครื่องจักรที่มีความแม่นยำในการผลิต และ 3. การควบคุมห่วงโซ่อุปทาน” นายสมควร กล่าว