posttoday

รื้อทีโออาร์แอร์พอร์ตลิงค์

06 กันยายน 2559

บอร์ด รฟฟท.เห็นชอบร่างทีโออาร์จัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 7 ขบวน ยันเปิดกว้าง 3 เงื่อนไข

บอร์ด รฟฟท.เห็นชอบร่างทีโออาร์จัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 7 ขบวน ยันเปิดกว้าง 3 เงื่อนไข

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการบริษัท รถไฟฟ้า รฟท. (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์เห็นชอบร่างทีโออาร์จัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ วงเงิน 4,400 ล้านบาท ทั้งนี้บอร์ด รฟฟท.จะส่งร่างทีโออาร์ไปให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ รฟฟท. เพื่อดำเนินการเปิดประมูลและคัดเลือกเอกชนที่ทำหน้าที่จัดหาขบวนรถให้ รฟฟท.ต่อไป

ทั้งนี้ ร่างทีโออาร์ที่บอร์ด รฟฟท.เห็นชอบจะมีการปรับปรุงเงื่อนไขใน 3 ประเด็นหลักๆ เพื่อเปิดกว้างให้เอกชนหลายๆ รายยื่นข้อเสนอในการเข้าร่วมประมูลได้คือ 1.งานด้านระบบอาณัติสัญญาณ เดิมกำหนดว่าจะต้องใช้อุปกรณ์ของบริษัทซีเมนต์ แต่ร่างทีโออาร์ฉบับใหม่แก้ไขให้เปิดกว้าง โดยเอกชนสามารถยื่นเงื่อนไขในการใช้อุปกรณ์ได้ทุกระบบรวมทั้งซีเมนต์

2.งานด้านมอเตอร์ขับเคลื่อนของตัวรถ ซึ่งกำหนดให้มีมอเตอร์ 2 ตัว เพื่อที่ว่าหากมอเตอร์ตัวใดตัวหนึ่งเสียก็สามารถใช้มอเตอร์อีกตัวได้ และจะต้องทำให้รถวิ่งได้ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ร่างทีโออาร์ฉบับใหม่กำหนดว่าเอกชนที่จะเสนอตัวเข้าประมูลต้องแสดงประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนคือ เมื่อมอเตอร์ขับเคลื่อนตัวหนึ่งตัวใดชารุด มอเตอร์ขับเคลื่อนอีกตัวจะต้องขับเคลื่อนได้ตามศักยภาพที่เอกชนเสนอเข้ามาให้พิจารณา และ 3.เรื่องพื้นที่ยืนในรถไฟฟ้า ซึ่งทีโออาร์ฉบับเดิมกำหนดว่าพื้นที่ยืนในรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์จะต้องสามารถยืนได้ 10 คน/ตารางเมตร แต่ร่างทีโออาร์ฉบับใหม่แก้ไขให้เปิดกว้างเป็นพื้นที่ยืนในรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ต้องไม่เกินน้ำหนักกดเพลา 16 ตัน

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการซ่อมบำรุงใหญ่ขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 9 ขบวน ว่า คาดว่าจะได้ตัวเอกชนที่จะมาซ่อมบำรุงขบวนรถภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนการปรับปรุงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่ให้บริการแบบเอ็กซ์เพรส 3 ขบวน มาวิ่งให้บริการแบบซิตี้ไลน์ หรือรถไฟฟ้าในเส้นทางธรรมดา จะเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป

สำหรับความคืบหน้าการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 489 คันนั้น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดสัญญาจากส่งให้อัยการตรวจสอบรายละเอียด คาดว่าจะลงนามสัญญากับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทผู้ชนะการประมูลได้ในเดือน ต.ค.นี้ ขณะที่กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทบทวนมติการจัดซื้อรถเมล์ เอ็นจีวี 3,183 คัน โดยลดการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีเหลือ 489 คัน แล้วเปลี่ยนไปซื้อรถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน และการซ่อมบำรุงรถเมล์เก่า 672 คัน แบ่งเป็นรถเมล์ธรรมดา 500 คัน และรถเมล์ปรับอากาศ 172 คัน

"การปรับปรุงรถเมล์เก่าทั้งธรรมดาและปรับอากาศนั้น ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และบริษัท ไทยเจริญยางบริการ เข้ามาศึกษาและปรับปรุงสภาพรถโดยสารเก่า ซึ่งเมื่อปรับปรุงแล้วสามารถยืดอายุการใช้งานของรถเมล์ไปได้อีก 15 ปี โดยรถโดยสารต้นแบบที่ปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้นจะปรับปรุงเครื่องยนต์ ระบบเกียร์ การซ่อมแซมตัวถังรถ พร้อมทั้งติดตั้งระบบ GPS และกล้อง CCTV เพิ่มเติม รวมทั้งจะติดตั้งระบบตั๋วร่วม หรือ e-Ticket ด้วย" นายออมสิน กล่าว