posttoday

ชุมชนทับสะแกยื่นหนังสือหนุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่

05 กันยายน 2559

ชุมชนทับสะแกยื่นหนังสือกระทรวงพลังงานหนุนสร้างโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีสะอาดแห่งใหม่หวังนำเงินกองทุนรอบโรงไฟฟ้ามาพัฒนาพื้นที่

ชุมชนทับสะแกยื่นหนังสือกระทรวงพลังงานหนุนสร้างโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีสะอาดแห่งใหม่หวังนำเงินกองทุนรอบโรงไฟฟ้ามาพัฒนาพื้นที่

นายสมนึก รุ่งจำกัด ประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอำเภอ ทับสะแก  จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยภายหลัง นำตัวชาวบ้านกว่า 20 คนเดินทางมายื่นหนังสือต่อพล.อ.อนันตพร  กาญจนรัตน์   รมว.พลังงาน  เพื่อขอให้รัฐสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เคยเตรียมพื้นที่ประมาณการก่อสร้างไว้  4,142 ไร่  ตั้งแต่ปี 2539 แต่ก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มคนบางพวกที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ จริง

"ที่ผ่านมาเราสูญเสียโอกาสในการพัฒนาระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอทับสะแกที่ด้อยกว่าอำเภออื่นๆ จึงต้องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เทคโนโลยีสะอาดไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์  ซึ่งไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน  เป็นเชื้อเพลิงชนิดใดก็ได้"นายสมนึกกล่าว

ทั้งนี้ยืนยันว่าจะไม่เกิดปัญหาการต่อต้านเพราะคนในพื้นที่สนับสนุนเกือบทั้งหมด   ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้ตกลงกับกลุ่มผู้ที่เคยคัดค้านในอดีตว่าจะไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใดๆถ้าคนในพื้นที่คัดค้าน  แต่ปัจจุบันพื้นที่ทับสะแก ทางกฟผ.ได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5 เมกะวัตต์ ใช้ที่ไปเพียง 800 ไร่เหลือพื้นที่อีกมากในการพัฒนาและชาวบ้านเองก็เห็นว่ารัฐมีกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าที่จะนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้

ด้าน นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึง การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี 2015)  ยึดหลักการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นและจริงจัง เพื่อดูแลชีวิตและสุขภาพของประชาชนควบคู่ไปกับการจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในการผลิตไฟฟ้าจาก 19% ในปัจจุบัน เป็น 20 – 25% ในปลายปี 2579 ซึ่งจากการติดตามเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดดังกล่าว พบว่า ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาบริหารจัดการ และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจึงสามารถลดปริมาณการปล่อยมลพิษ

ทั้งนี้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดตามแผนการสร้างโรงไฟฟ้า ที่กฟผ.ได้เตรียมนำมาใช้ คือเทคโนโลยี ultra super critical ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและทันสมัยที่สุด ทําให้ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง จึงมีผลให้ลดการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศลงได้มาก โดยกระทรวงพลังงานยืนยันได้ว่า การผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด จะสะอาดตั้งแต่ต้นน้ำคือ การนำเข้าถ่านหินสะอาดที่มีคุณภาพสูงมีปริมาณซัลเฟอร์ต่ำและค่าความร้อนสูง ซึ่งเบื้องต้นจะพิจารณานำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือ แอฟริกาใต้ เป็นต้น รวมทั้งกลางน้ำ ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นละอองในกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้เกือบทั้งหมด 100% และปลายน้ำ คือ มีการตรวจสอบวัดมลพิษและกระบวนการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด มีการปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นแนวป้องกันอีกด้วย

นายชวลิต กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศชั้นนำของโลก อย่าง ประเทศญีปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ยังคงมีแผนการพัฒนาเชื้อเพลิงจากถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับพีดีพี 2015 จะมีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดใหม่เพิ่มเติม จำนวน 2 โรง เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว 3 ครั้ง และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) แล้ว โดยอยู่ระหว่างประชุมและหาข้อยุติของคณะกรรมการไตรภาคี และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้รับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)