posttoday

เขื่อนภูมิพลยังวิกฤต

30 สิงหาคม 2559

กรมฝนหลวงฯ ปรับแผนปฏิบัติการวันที่ 1 ก.ย.-15 ต.ค. เติมน้ำเขื่อนใหญ่-เขื่อนภูมิพลที่ยังวิกฤต

กรมฝนหลวงฯ ปรับแผนปฏิบัติการวันที่ 1 ก.ย.-15 ต.ค. เติมน้ำเขื่อนใหญ่-เขื่อนภูมิพลที่ยังวิกฤต

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ได้ปรับแผนฝนหลวง เพื่อช่วยเติมน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่า 30% เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย โดยเฉพาะในพื้นที่เขื่อนภูมิพลและอ่างเก็บน้ำในฝั่งตะวันตก อ่างเก็บน้ำทับเสลา กระเสียวและเขื่อนในลุ่มน้ำแม่กลอง โดยแผนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-ต.ค. 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าร่องฝนจะขยับลงมาภาคเหนือตอนบน

“แม้ว่าจะเข้าฤดูฝน แต่เนื่องจากฝนตกไม่ต่อเนื่องหรือฝนตกเป็นจุดๆ ทำให้ดินไม่คายน้ำ ดังนั้น ในช่วง 2 เดือนในฤดูฝนที่เหลืออยู่นี้ กรมจะปรับแผนปฏิบัติการทำฝนหลวง เพื่อให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมายและในวันที่ 2 ก.ย. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะเดินทางไปตรวจสภาพน้ำในเขื่อนภูมิพล ซึ่งปัจจุบันมีน้ำใช้การเพียง 9% เท่านั้น เพราะเผชิญภัยแล้งมานานติดต่อกัน 2-3 ปี และน้ำไหลเข้าไม่มาก” นายเลอศักดิ์ กล่าว

นายเลอศักดิ์ กล่าวว่า กรมจะตั้งฐานปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มใน จ.ตาก และจะร่วมกับกองทัพอากาศในฐานบินที่จะพิษณุโลก เพื่อให้เครื่องเอยู 23 จำนวน2 ลำ ขึ้นบนไปถึงระดับความสูง 1 หมื่นฟิต แล้วยิงพลุปล่อยสารดูดความชื้นออกจากเครื่องเอยู ซึ่งจะทำให้ก้อนเมฆใหญ่ขึ้นและเพิ่มปริมาณฝนตกได้มากกว่า 20%

“คาดว่าสิ้นฤดูฝนปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย และป่าสักชลสิทธิ์ จะมีน้ำใช้การได้กว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ถ้าโชคดีอาจได้น้ำ 9,000 ล้าน ลบ.ม. และสามารถปลูกข้าวและพืชฤดูแล้งได้” อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าว

นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. จะมีปริมาณฝนตกหนาแน่นบริเวณภาคเหนือตอนบนและคาบเกี่ยวกับภาคกลาง เนื่องจากความกดอากาศต่ำจากจีนลงมา และจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพลเพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้เขื่อนภูมิพลมีน้ำ 4,651 ล้าน ลบ.ม. แต่เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 851 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 9% ของความจุเขื่อน

สำหรับเขื่อนสิริกิติ์นั้น เนื่องจากในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านมีปริมาณน้ำไหลหลากและน้ำท่าในพื้นที่มาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำน่านเพิ่มขึ้น กรมชลประทานจึงลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ลงเหลือ 1 ล้าน ลบ.ม./วัน และหยุดการระบายในวันที่ 30 ส.ค. จากนั้นจะประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง เพื่อรักษาปริมาณน้ำไว้ใช้สนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้ง

“กรมเป็นห่วงเขื่อนในภาคตะวันตก เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อย จึงต้องระมัดระวังในการบริหารจัดการน้ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำที่ปริมาณน้ำยังน่าเป็นห่วงอยู่ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำมูลบน ลำแชะ ภูมิพล วชิราลงกรณ์ ศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา กระเสียว เป็นต้น” นายเลิศชัย กล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนยังน้อยอยู่ เช่น เขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้การได้เพียง 9% เขื่อนกระเสียวมีน้ำใช้การได้ 1% เขื่อนจุฬาภรณ์มีน้ำใช้การได้ 4% เขื่อนบางพระมีน้ำใช้การได้ 13% เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำใช้การได้เพียง 4%

“ในช่วงนี้ได้ให้กรมฝนหลวงฯขึ้นปฏิบัติการเติมน้ำเขื่อนในพื้นที่เป้าหมายเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนหลัก โดยวันที่ 2 ก.ย. เดินทางไปติดตามฐานฝนหลวง จ.ตาก เพื่อเติมน้ำเขื่อนภูมิพล” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว