posttoday

ปิดหลุมเจาะปิโตรเลียม

29 สิงหาคม 2559

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเผยผู้ผลิตปิโตรเลียมแจ้งปิดหลุมเจาะต่อเนื่อง คาดปีนี้เหลือ 400 หลุม

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเผยผู้ผลิตปิโตรเลียมแจ้งปิดหลุมเจาะต่อเนื่อง คาดปีนี้เหลือ 400 หลุม

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์การขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในปี 2559 ว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมทยอยแจ้งหยุดการผลิตและเตรียมคืนพื้นที่แปลงปิโตรเลียม เนื่องจากระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งปริมาณสำรองปิโตรเลียมของหลุมที่ผลิตเริ่มลดลง ทำให้การขุดเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียมปีนี้จะอยู่ที่ 400 หลุม ลดลงจากปี 2558 ที่มีการขุดเจาะ 430-450 หลุม และคาดการณ์ในปี 2560 ระดับการขุดเจาะปิโตรเลียมจะใกล้เคียงกับปีนี้

“เชื่อว่าระดับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ยังพอที่จะจูงใจให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอยู่บ้าง ในลักษณะของการรักษาระดับการผลิตไว้เท่าเดิมหรือไม่เพิ่มขึ้นไปกว่านี้ โดยในปี 2560 ประเมินว่าหลุมผลิตปิโตรเลียมจะทรงตัว โดยมีปัจจัยหลักมาจากการชะลอการลงทุนเพิ่มของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ในแหล่งเอราวัณ และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ในแหล่งบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-2566 เนื่องจากยังต้องรอการเปิดประมูลสัมปทานที่จะหมดอายุ” นายวีระศักดิ์ กล่าว

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ล่าสุดผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่แจ้งหยุดผลิตเพิ่ม ได้แก่ บริษัท ซีอีซีอินเตอร์เนชั่นแนล แหล่งน้ำมันสงขลาขอหยุดการผลิตเพิ่มอีก 1 แท่น จากก่อนหน้านี้หยุดไปแล้ว 2 แท่น จากที่มีทั้งหมด 5 แท่น ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยลดลงจาก 1.5 หมื่นบาร์เรล/วัน เหลือ 6,000 บาร์เรล/วัน

นอกจากนี้ บริษัท โอเฟียร์ ผู้รับสัมปทานสำรวจแปลง G4/50 ใกล้บัวหลวงและเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ได้แจ้งว่าจะขอคืนแปลงสำรวจ เนื่องจากสำรวจเป็นระยะเวลาหลายปีแล้วแต่ไม่พบปริมาณปิโตรเลียมที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ในขณะที่แหล่งน้ำพอง จ.ขอนแก่น (หลุมน้ำพอง 1A-หลุมน้ำพอง-2) ของบริษัท เอสโซ่ โคราช ปัจจุบันมีกำลังการผลิตก๊าซเฉลี่ย 10 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟุต) ต่อวัน ที่ใกล้จะหมดอายุสัมปทานในเร็วๆ นี้

นายวีระศักดิ์ กล่าวถึงการปรับโครงสร้างกรมเพื่อรองรับภารกิจบริการจัดการการนำเข้าถ่านหินนำเข้า และก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ว่า จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้า เพื่อให้การจัดการมีประสิทธิภาพและไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ