posttoday

ชงพัฒนา18สถานีไฮสปีด ปั๊มรายได้1.89แสนล้านใน30ปี

23 สิงหาคม 2559

มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องสำหรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจมหภาคโพสต์ทูเดย์ 

มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องสำหรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor Development - EEC) ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมกระทรวงคมนาคม เพื่อรับฟังความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี โดยเฉพาะการลงทุนใน 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง 2.การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 3.การพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ด และ 4.การพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่ของเอกชนภายใต้กำกับดูแลของกรมเจ้าท่า พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าการจัดหาที่ดินและการจัดทำแผนพัฒนาที่ดิน 2 แนวข้างทางรถไฟความเร็วสูง ก่อนเสนอ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 31 ส.ค.นี้

สมคิด ระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทยอยเสนอโครงการลงทุนในอีอีซีให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป จากนั้นจะเริ่มลงทุนตั้งแต่ไตรมาส 4 เพื่อให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเริ่มเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนมีการประชุมใหญ่ในประเทศไทยเพื่อชักจูงการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในช่วงปลายปีนี้

“รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง จะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) พิจารณาก่อน ส่วนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือจุกเสม็ดสำหรับการขนส่งสินค้าไม่ต้องเข้าบอร์ดพีพีพี เพราะเป็นโครงการของกองทัพเรือและมีการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว ซึ่งทุกโครงการก็เร่งเต็มที่อยู่แล้ว และเมื่อเสนอเรื่องเข้า ครม.ได้ ทุกอย่างก็ถือว่าอยู่ในกระบวนการแล้ว” สมคิด กล่าว

ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ระบุว่า หากบอร์ดพีพีพีและ ครม.เห็นชอบเปิดคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นกรุงเทพฯ-ระยองแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการจะต้องนำร่างทีโออาร์ไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงจะเริ่มดำเนินการในขั้นตอนอื่นๆ ต่อได้

“ได้เสนอรายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ให้รองนายกฯ ทราบ ซึ่งจะมี 2 ส่วน คือ การขออนุมัติโครงการ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งส่วนที่ 2 ใช้ประโยชน์ที่ดินจะต้องใช้เวลาในการประเมินมูลค่าและเข้าสู่กระบวนการพีพีพี ขณะที่รองนายกฯ สมคิด บอกให้ไปศึกษาเพิ่มเติม ว่าเส้นทางที่พัฒนาเชิงพาณิชย์กับเส้นทางที่ไม่มีการพัฒนา มีรายได้หรือผลตอบแทนแตกต่างกันอย่างไร และให้สรุปข้อมูลภายในวันที่ 31 ส.ค. 2559 โดยปัจจุบันไทยมีแผนลงทุนรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง มีสถานี 18 แห่ง โดยในส่วนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง จะมีสถานีที่ควรพัฒนา อาทิ ฉะเชิงเทรา ระยอง พัทยา ชลบุรี และศรีราชา ส่วนรูปแบบลงทุนต้องทำมาร์เก็ตซาวดิ้ง เพราะเอกชนจะมีมุมมองมากกว่าภาครัฐ” อาคม กล่าว

อาคม ย้ำว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะทำได้ก่อนมี 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน ในส่วนของเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน จะต้องไปศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์เพิ่มเติม เพราะเส้นทางนี้ยังไปไม่สุดทาง จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะต้องเชื่อมต่อลงไปถึงสุราษฎร์ธานี-สงขลา-ปาดังเบซาร์ โดยเฉพาะการขยายเส้นทางหัวหิน-สุราษฎร์ธานี จะให้ผลตอบแทนที่มากกว่า

“เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน จะต่อลงไปถึงสุราษฎร์ธานี ซึ่งเราต้องคิดยาวต่อไปอีกถึงปาดังเบซาร์ ซึ่งมีโครงการรถไฟทางคู่ และการยกระดับโครงการรถไฟที่จะใช้ไฟฟ้าเพื่อเชื่อมเส้นทางรถไฟไทย-มาเลย์ โดยรถไฟของไทยและมาเลย์สามารถวิ่งข้ามมาหากันได้เพื่อเดินรถร่วมกันได้” อาคม กล่าว

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมฝ่ายไทยและจีนครั้งที่ 13 ที่ปักกิ่ง ในวันที่ 24 ส.ค. โดยทั้งสองฝ่ายจะหารือกันใน 2 ประเด็น คือ 1.แบบก่อสร้างตอนแรก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (กม.) 2.หารือเกี่ยวกับร่างสัญญาออกแบบก่อสร้างก่อนจะกำหนดร่างทีโออาร์และเปิดประมูล

ส่วนโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ขณะนี้อยู่ในช่วงการศึกษาและประเมินมูลค่าโครงการเพิ่มเติมว่า จะมีรายได้จากการเดินและที่ไม่ใช่การเดินรถมากน้อยเพียงใด ซึ่งในส่วนรถไฟความเร็วสูงเส้นกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ที่ปรึกษาญี่ปุ่นแนะนำว่าต้องทำแผนพัฒนาว่า
ผลตอบแทนทางอ้อมที่เกิดจากการพัฒนาที่ดินจะมากน้อยเพียงใด โดยญี่ปุ่นจะเสนอรายงาน พ.ย.-ธ.ค.นี้ และจะเสนอ ครม.พิจารณาในหลักการต่อไป จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นการออกแบบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้นตามแผนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางนั้น คาดว่าในช่วง 30 ปีจะสร้างรายได้ให้ภาครัฐได้ 1.89 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 1.89 แสนล้านบาท จะมีการพัฒนาพื้นที่ 3 สถานี คือ สระบุรี ปากช่อง นครราชสีมา แบ่งเป็นพื้นที่พัฒนาภายในสถานีรวม 3,800 ตารางเมตร (ตร.ม.) พื้นที่ย่านสถานี 601.59 ไร่ พื้นที่ใกล้เคียงของราชการ 638 ไร่ ประมาณการรายได้อยู่ที่ 31,695 ล้านบาท

2.เส้นกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 384 กม. วงเงินลงทุน 2.24 แสนล้านบาท จะมีพื้นที่พัฒนา 5 สถานี คือ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก พื้นที่พัฒนาแบ่งเป็นพื้นที่พัฒนาภายในสถานีรวม 3,150 ตร.ม. พื้นที่ย่านสถานี 120.35 ไร่ พื้นที่ใกล้เคียงของราชการ 21,582 ไร่ ประมาณการรายได้ 18,291 ล้านบาท 3.เส้นกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะระยะทาง 255 กม. วงเงินลงทุน 1.01 แสนล้านบาท จะมีการพัฒนา 4 สถานี คือ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี หัวหิน พื้นที่พัฒนา แบ่งเป็นพื้นที่พัฒนาภายในสถานีรวม 6,324 ตร.ม. พื้นที่ย่านสถานี 159.66 ไร่ ประมาณการรายได้ 6,137 ล้านบาท

และ 4.เส้นกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 194 กม. วงเงินลงทุน 1.52 แสนล้านบาท จะมีการพัฒนาพื้นที่ 6 สถานี คือ ลาดกระบัง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา ระยอง แบ่งเป็นพื้นที่พัฒนาภายในสถานีรวม 5,499 ตารางเมตร พื้นที่ย่านสถานี 162 ไร่ ประมาณการรายได้ 15,857 ล้านบาท ส่วนพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่ 543 ไร่ ประมาณการรายได้ 117,028ล้านบาท

“โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้เป็นรายได้ที่ไม่ได้มาจากการเดินรถและสามารถนำมาคืนทุนให้กับโครงการ เพื่อทำให้โครงการผลตอบแทนทางการเงินดีขึ้นและสามารถดึงดูดความสนใจการลงทุนโครงการรถไฟได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเจริญเติบโตให้กับเมืองที่รถไฟความเร็วสูงผ่าน และแก้ไขปัญหาตลอดจนการจัดระเบียบชุมชนที่บุกรุกที่ดินราชการ โดยจะเน้นการพัฒนาพื้นที่ในขอบเขตและบริเวณรอบสถานีรถไฟ โดยใช้แนวคิดการพัฒนาให้เป็น CBD (Central Business District) โดยรูปแบบ TOD (Transit Oriented Develop)” แหล่งข่าวระบุ