posttoday

กรมเชื้อเพลิงแจงพบชั้นหินฟอสซิลที่ภาคใต้ยังไม่ชัดมีน้ำมันหรือไม่

17 สิงหาคม 2559

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติชี้ ชั้นหินที่มีซากฟอสซิลยังบอกไม่ได้ว่าจะมีปิโตรเลียมหรือไม่ ต้องใช้การเจาะหลุมสำรวจเท่านั้นจึงจะทราบแน่ชัด

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติชี้ ชั้นหินที่มีซากฟอสซิลยังบอกไม่ได้ว่าจะมีปิโตรเลียมหรือไม่ ต้องใช้การเจาะหลุมสำรวจเท่านั้นจึงจะทราบแน่ชัด 

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า จากข่าวการพบซากดึกดำบรรพ์หรือ ซากฟอสซิลบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีไปตลอดแนวชายฝั่งของภาคใต้ และมีการสันนิษฐานว่าจะเป็นแหล่งรวมของหินต้นกำเนิดน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมหาศาลในอ่าวไทยนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติขอชี้แจงว่า การพบชั้นหินที่มีซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นต้นกำเนิดของปิโตรเลียมนั้น ไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่ามีหรือไม่มีน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติใต้ดินต้องใช้การลงทุนเจาะหลุมสำรวจดูเท่านั้น ซึ่งจะต้องอาศัยลงทุนสูงและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าจะพบปิโตรเลียมได้จะต้องดำเนินการหลายขั้นตอนทั้งสำรวจทางธรณีวิทยา สำรวจทางธรณีฟิสิกส์ รวมถึงเจาะสำรวจ และหากพบปิโตรเลียมแล้วก็ใช่ว่าจะสามารถผลิตได้จะต้องคำนึงถึงปริมาณปิโตรเลียมว่ามีมากหรือน้อยคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์หรือไม่  ซึ่งที่ผ่านมา ผู้รับสัมปทานที่มีนักธรณีวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญ ได้ใช้ความพยายามในการศึกษาข้อมูล และทำการเจาะไปในชั้นหินดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่พบปิโตรเลียม

"การพบชั้นหินที่เป็นต้นกำเนิดปิโตรเลียมปรากฏอยู่บนพื้นผิวโลกไม่ได้หมายความว่าบริเวณนั้นจะต้องเป็นแหล่งปิโตรเลียมเสมอไป ยังมีอีกหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร้อนที่สูงเกินไปและที่แน่ๆในอ่าวไทยมีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาแล้ว 30-40 ปี ผู้ประกอบการได้มีการศึกษาอย่างดีพอ คงไม่ปล่อยโอกาสที่จะพบปิโตรเลียมในชั้นหินดังที่กล่าวอ้าง"นายวีระศักดิ์กล่าว

ด้านนายทรงภพ พลจันทร์ อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  กล่าวว่า ตลอดแนวชายฝั่งบนบกของภาคใต้พบหินดังกล่าวจริง แต่ถูกยกตัวเป็นภูเขาไม่มีอะไรปิดกั้นถ้าเกิดปิโตรเลียมก็ไหลสู่อากาศไปหมดแล้ว ที่ผ่านมาเคยให้สัมปทานบนบกภาคใต้หลายครั้ง ได้มีการเจาะบนบกที่แอ่งสุราษฎร์ธานี  บริเวณอำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่ หลายหลุม ไม่พบร่องรอยปิโตรเลียม ส่วนอ่าวไทยด้านตะวันตก แอ่งเพชรบุรี แอ่งประจวบคีรีขันธ์ แอ่งชุมพร แอ่งนครศรีธรรมราช และแอ่งสงขลา ผู้รับสัมปทานได้พยายามเจาะลึกลงไปเพื่อหาปิโตรเลียมจากหินชุดนี้แต่ไม่พบปิโตรเลียม ส่วนที่ชุมพร แหล่งนางนวลได้เจาะถึงหินฐาน พบแหล่งกักเก็บเป็นโพรงของหินปูนชุดราชบุรี และมีหินต้นกำเนิดน้ำมันมาจากตะกอนยุคเทอร์เชียรี ส่วนใต้แอ่งตะกอนด้านตะวันออกของอ่าวไทยเป็นแอ่งที่ลึกมาก 5-8 กิโลเมตร ความร้อนใต้แผ่นดินที่มีความลึกขนาดนั้นย่อมสูงมาก ซึ่งหากมีหินเหล่านี้อยู่ด้านล่างปิโตรเลียมคงแปรสภาพเป็นคาร์บอนไปหมดแล้ว