posttoday

สศช.ชี้ไตรมาส2โตเกิน3.2%

31 กรกฎาคม 2559

สศช.ฟันธงหลายปัจจัยดีขึ้น จับตาเบร็กซิตเป็นความเสี่ยงใหม่ปีนี้ ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐโตน้อยกว่าคาด

สศช.ฟันธงหลายปัจจัยดีขึ้น จับตาเบร็กซิตเป็นความเสี่ยงใหม่ปีนี้ ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐโตน้อยกว่าคาด

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  เปิดเผยว่า สศช.จะมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2559 ในวันที่ 15 ส.ค.นี้ โดยมีเครื่องบ่งชี้หลายตัวสะท้อนว่าดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคเอกชนขยายตัว 4.3% เทียบกับ 2.2% เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรกลับมาเป็นบวก 3.7% จากที่ติดลบ 11% และการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวกลับมาเติบโต 1.5% จากที่ติดลบ 0.9% แต่ภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัว สอดคล้องกับการส่งออกที่ยังมีทิศทางติดลบต่อเนื่อง แต่ติดลบ 3.1% ก็ถือว่ายังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ติดลบ 2 หลัก ทั้งนี้ไตรมาส 1/2559 เศรษฐกิจขยายตัว 3.2%

เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า เศรษฐกิจทั้งปีเบื้องต้นยังคงประมาณการการเติบโตที่ 3-3.5% โดยครึ่งปีหลังมีหลายปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ การลงทุนภาครัฐมีการเร่งรัดใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้ ทั้งรถไฟทางคู่ ทางด่วน ที่มีการทยอยอนุมัติ โดยวันที่ 3 ส.ค.นี้ สศช.จะพิจารณาโครงการรถไฟทางคู่ 4 เส้นทาง

“ศักยภาพการเติบโตของไทยอยู่ที่ระดับ 4-5% ซึ่งที่ผ่านมาขยายตัว 3% ถูกฉุดรั้งด้วยภาคเกษตรและภาคการส่งออก แนวโน้มภาคเกษตรเริ่มคลี่คลายลงในครึ่งปีหลัง แต่ภาคการส่งออกยังน่าเป็นห่วง ส่วนการลงประชามติของสหราชอาณาจักรออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ผิดคาดสศช.กำลังติดตามผลกระทบเพราะมองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ในครึ่งปีหลังที่ต้องนำมาประกอบการทบทวนการเติบโตทั้งปี 2559 “

อย่างไรก็ตาม ผลที่แท้จริงของเบร็กซิตยังไม่เกิด เพราะมีกระบวนการอีก 2 ปี จะมีเพียงความกังวลในความไม่แน่นอน ทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจไม่ดีจนทำให้ปรับลดประมาณการทั้งสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ทำให้ประเทศอื่นกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวดังกล่าวไปด้วย

“ผลกระทบที่แท้จริงเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบ ความไม่แน่นอนต่างหากที่เป็นความเสี่ยง ต้องติดตาม”นายปรเมธี กล่าว

ด้านกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 2/2559 ขยายตัว 1.2% ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ที่ 2.6% และปรับลดการขยายตัวของไตรมาสแรกจากระดับ 1.1% เหลือเพียง 0.8%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไตรมาส 2 ขยายตัวน้อยกว่าคาด มาจากมูลค่าสินค้าคงคลังที่ลดลง 8,100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.81 แสนล้านบาท) ถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 3/2554 เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายภาคธุรกิจลดลงติดต่อกัน 3 ไตรมาส มาอยู่ที่ 3.5% สวนทางกับการบริโภคที่ปรับตัวขึ้น 4.2% สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2557