posttoday

บิ๊กตู่ฉุนเสียงโจมตี ยันไม่เลิกศก.พิเศษ

28 กรกฎาคม 2559

พล.อ.ประยุทธ์ย้ำไม่เลิกเขตเศรษฐกิจพิเศษ มอบ “อาคม” นำทีมคุยเมียนมาสานต่อกลไกระดับสูงพัฒนาทวาย ส.ค.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ย้ำไม่เลิกเขตเศรษฐกิจพิเศษ มอบ “อาคม” นำทีมคุยเมียนมาสานต่อกลไกระดับสูงพัฒนาทวาย ส.ค.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ว่า จะไม่มีการยกเลิกนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนการผลักดันให้เกิดการลงทุนจะเน้นพื้นที่ที่มีศักยภาพไว้ก่อน เช่น พื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก พื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ส่วนพื้นที่อื่นๆ จะให้ไปพิจารณาว่าการส่งเสริมในรูปแบบใดเหมาะสมกับความต้องการของเอกชนมากที่สุด ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นการเฉพาะในบางกิจกรรม

“อย่ามาโจมตีรัฐบาลว่าทำแล้วไม่มีใครมาลงทุน ถ้าวันนี้ไม่ลงทุน ก็มาลงทุนกันวันหน้า ถ้าไม่วางอนาคตไว้จะเกิดอะไรไหม มันต้องตีกรอบไว้เหมือนกัน แต่ละด้านก็ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหมด ในเมื่อเขายังไม่พร้อม การลงทุนก็ยังไม่มีมากนัก เป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ตามในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต้องทำก็ต้องทำไปก่อน เพื่อที่จะเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ได้รายงาน กนพ.ว่า ในช่วงที่ผ่านมามีเอกชนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 8 แห่ง คือ ที่ จ.ตาก ตราด หนองคาย เชียงราย สงขลา สระแก้ว กาญจนบุรี และมุกดาหาร 39 โครงการวงเงินรวม 7,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. 2559 ที่มียอดยื่นประมาณ 1,000 ล้านบาท

เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า กนพ.เห็นชอบผังการจัดพื้นที่ราชพัสดุเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี พื้นที่ 8,000 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ได้แก่ พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ราชการ พื้นที่เพื่อสาธารณูปโภคและชุมชน และพื้นที่เพื่อการศุลกากร รวมทั้งสั่งการให้จัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่กาญจนบุรี และจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนในโครงการต่างๆ ให้รองรับการเป็นระเบียงเศรษฐกิจและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวายด้วย

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นำคณะผู้บริหารภาครัฐจากฝ่ายไทยไปหารือกับ รมว.คลัง และการวางแผนของเมียนมากลางเดือน ส.ค.นี้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายในส่วนที่สานต่อจากโครงการเฟสแรก เช่น การให้เช่าที่ดินเพิ่ม และการทำเหมืองหิน