posttoday

แนะเร่งระบายข้าวลดขาดทุน

27 กรกฎาคม 2559

จากการศึกษาพบว่า วิธีการระบายข้าวที่รัฐบาลขาดทุนสุด คือการขายให้พรรคพวกโดยใช้สัญญารัฐต่อรัฐเทียมเป็นข้อบังหน้าและไม่เปิดเผยข้อมูล

จากการศึกษาพบว่า วิธีการระบายข้าวที่รัฐบาลขาดทุนสุด คือการขายให้พรรคพวกโดยใช้สัญญารัฐต่อรัฐเทียมเป็นข้อบังหน้าและไม่เปิดเผยข้อมูล

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ศึกษาเรื่องการระบายข้าวในคลังของรัฐบาล โดยพบว่าตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เปิดรับจำนำข้าวทุกเม็ด ทำให้ข้าวในสต๊อกรัฐเพิ่มมหาศาล โดยสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์รับจำนำข้าวถึง 34.5 ล้านตัน หรือคิดเป็น 53% ของผลผลิตทั้งหมด แต่กลับขายได้เพียง 18.07 ล้านตัน

เหตุนี้เองจึงทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระขาดทุนมากกว่า 5 แสนล้านบาท และยิ่งระบายข้าวช้าก็ยิ่งขาดทุนหนัก เพราะภาระต้นทุนการเก็บรักษาและค่าดอกเบี้ยสูงถึงปีละ 1.83 หมื่นล้านบาท หรือตันละ 1,570 บาท/ปี

ดังนั้น รัฐบาลควรดำเนินการขายข้าวอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อระบายให้ข้าวในสต๊อกหมดภายใน 2 ปี รวมทั้งปรับรูปแบบการขายข้าวให้มีทั้งแบบยกโกดังและแยกกอง แต่ถ้าเป็นข้าวเกรดที่จะขายเป็นอาหารสัตว์หรือที่ใช้ทำเอทานอลไม่ควรขายทั้งโกดังเพราะจะขาดทุนมาก

“สำหรับโกดังที่กองข้าวส่วนใหญ่เกิน 60-70% เป็นข้าวเกรด C และมีข้อมูลว่าเกรดต่ำมากอาจต้องขอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 เพื่อขายข้าวในเกรดอุตสาหกรรมเพื่อช่วยให้สามารถระบายข้าวได้เร็วขึ้นเนื่องจาก ข้าวเสื่อมและเสียนั้น คาดว่าจะมีประมาณ 4 ล้านกว่าตัน ซึ่งจะขายได้ในราคาต่ำมากไปยังอุตสาหกรรมชีวมวล หรือเอทานอล ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของสต๊อกข้าวที่เหลืออยู่ประมาณ 9.7 ล้านตัน เพื่อตัดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา” นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของทีดีอาร์ไอ ให้ความเห็น

ทั้งนี้ ในการศึกษาพบว่า ยิ่งระบายข้าวได้เร็วจะขาดทุนน้อยกว่าการระบายข้าวได้ช้า และยิ่งระบายข้าวได้ช้าไปหนึ่งปี จะทำให้มูลค่าการขาดทุนของโครงการรับจำนำเพิ่มขึ้นปีละ 1 หมื่นล้านบาท โดยจากการประเมินความเสียหายของการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวปิดบัญชีเดือน ก.ย. 2558 พบว่า ขาดทุนกว่า 5.81 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าตัวเลขเดิมที่ประเมินไว้ที่ 5.49 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบราคาระบายข้าวของรัฐบาลในอดีต พบว่าสมัยยิ่งลักษณ์มีการระบายข้าวจำนวน 15.89 ล้านตัน ราคาขายต่ำกว่าตลาด 29% และรัฐบาลประยุทธ์ ราคาต่ำกว่าราคาตลาด 20% เนื่องจากมีการระบายข้าวในเกรดดีก่อน แต่ต่อไปมีแนวโน้มว่าการระบายข้าวจะได้ราคาไม่ดีมากขึ้น จากข้าวที่เหลือมีคุณภาพเสื่อมมากขึ้น

นิพนธ์ บอกว่า จากการศึกษาพบว่า วิธีการระบายข้าวที่รัฐบาลขาดทุนมากที่สุด คือการขายให้พรรคพวกโดยใช้สัญญารัฐต่อรัฐเทียมเป็นข้อบังหน้าและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใดๆ ส่วนการขายให้ได้ราคาสูงที่สุด คือการประมูลแบบโปร่งใส

ขณะที่ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ ระบุว่า บทเรียนสำคัญคือ รัฐบาลไม่ควรคิดแทรกแซงสินค้าเกษตรทุกชนิด แล้วนำมาเก็บไว้ในสต๊อกเด็ดขาด เพราะกฎระเบียบต่างๆ ของรัฐไม่เอื้อในการขายข้าวและจะขาดทุนมหาศาลมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าเวลาเงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่พ่อค้าไม่กล้าเสี่ยงตัดสินใจวันนี้หากคาดว่าราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง เพราะการไม่มีระบบบัญชีและฐานข้อมูลของทุกหน่วยงานก่อปัญหาความยุ่งยากในการระบายข้าว แต่หากจำเป็นต้องมีโครงการช่วยเหลือชาวนาควรจะใช้วิธีช่วยเหลือโดยตรง เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรง ไม่ควรใช้วิธีรับซื้อสินค้าเกษตรเข้ามาเก็บไว้ในสต๊อกโดยเด็ดขาด

สำหรับภาพรวมโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด ที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า 1.77 ล้านราย มีโรงสี 826 ราย โกดัง 1,685 แห่ง มีเซอร์เวย์เยอร์กว่า 40 แห่ง มีผลผลิตข้าวเข้าโครงการ 54.35 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็น 53% ของผลผลิตรวม ใช้เงินซื้อข้าวทั้งสิ้น 8.57 แสนล้านบาท และเมื่อรวมค่าใช้จ่าย คิดเป็นมูลค่า 9.76 แสนล้านบาท

ด้าน ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การระบายข้าวในคลังของรัฐยังเร็วไปที่จะสรุปได้ว่า มีผลต่อราคาข้าวในประเทศและปริมาณส่งออก เพราะต้องบอกว่าโชคดีที่ราคาข้าวเป็นราคาที่อยู่ในตลาดแข่งขัน จึงไม่ได้ส่งผลต่อราคาข้าวไทยโดยตรง อยู่ที่ว่าผู้ส่งออกจะปรับตัวอย่างไร

ปราโมทย์ วาณิชชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า อยากให้คะแนนการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล คสช.เต็ม เพราะไม่มีวาระการเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการเร่งระบายข้าวเก่าที่ค้างในสต๊อกออกมา แม้ว่าการระบายข้าวในสต๊อกรัฐออกมาจะกระทบต่อราคาข้าวขาวบ้าง แต่ขณะเดียวกันตลาดโลกก็รับรู้แล้วว่าข้าวไทยมีเยอะ จึงไม่น่าจะทำให้เกิดการกดดันราคารับซื้อข้าวไทยมากนัก

อย่างไรก็ดี ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องทบทวนและวางอนาคตของข้าวไทยในตลาดโลกใหม่ว่าจะยืนอยู่ตรงไหน ซึ่งเป็นโจทย์ใหม่ที่รัฐบาลต้องคิดใหม่ เพราะถ้าไม่ทำ รัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยอุดหนุนทุกปี เฉลี่ยปีละ 4,000 กว่าล้านบาท

“ไทยน่าจะใช้จุดแข็งที่มีคือมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ดี มีคุณภาพ ดังนั่นบทเรียนที่ผ่านมาเจ็บปวดพอแล้ว ต่อไปไทยไม่ควรขายข้าวเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ควรขายตามสายพันธุ์ข้าวที่แข่งกันด้วยเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับราคาข้าวไทยในตลาดโลกให้เพิ่มขึ้น”ปราโมทย์ กล่าว

อภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จะนำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ค. เพื่อพบปะหารือและขยายลู่ทางการค้าสินค้าไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสิงคโปร์ โดยจะมีการหารือกับกลุ่มผู้ค้าข้าวและผู้นำเข้าข้าว เพื่อรับทราบข้อมูลและสถานการณ์ข้าวในตลาดสิงคโปร์และภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งไทยจะใช้โอกาสนี้ผลักดันให้สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวคุณลักษณะพิเศษของไทยอื่นๆ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล และข้าวสังข์หยด เป็นต้น