posttoday

‘ธนินท์’ : กรุงเทพฯ-ระยอง "นายกฯต้องการให้ทำ"

01 กรกฎาคม 2559

"พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ลงทุนสูง หากรัฐทำแล้วอาจจะขาดทุน จึงอยากให้ ซี.พี.ดูแลลงทุนในส่วนของสายตะวันออก"

โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ

“เจ้าสัวธนินท์” ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระหว่างการเข้าร่วมคณะกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปโรดโชว์ที่กรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ระหว่างวันที่ 26-30 มิ.ย. 2559

เจ้าสัวธนินท์ ระบุว่า การที่รัฐบาลเตรียมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ โดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนนั้น กลุ่ม ซี.พี.สนใจที่จะลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งขณะนี้ ซี.พี.อยู่ระหว่างเตรียมการต่างๆ ควบคู่กับการที่รัฐบาลจัดทำรายละเอียดโครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2-3 เดือน

“ตอนนี้ยังไม่สุกงอมเอาไว้มีความพร้อมแล้วจะเปิดเผยรายละเอียด ซึ่งลักษณะที่กลุ่มจะเข้าลงทุนโครงการนี้จะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตร”

เจ้าสัวธนินท์ กล่าวว่า การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้ กลุ่ม ซี.พี.กำไรจะมากหรือน้อย ไม่สำคัญ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จและที่สนใจจะทำเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง เพราะนายกฯ ต้องการให้ทำ

“พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ลงทุนสูง หากรัฐทำแล้วอาจจะขาดทุน จึงอยากให้ ซี.พี.ดูแลลงทุนในส่วนของสายตะวันออก ส่วนกลุ่มไทยเบฟ (บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ที่มี เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริษัท) จะลงทุนในสายตะวันตก กรุงเทพฯ-หัวหิน” เจ้าสัวธนินท์ กล่าว

เจ้าสัวธนินท์ ย้ำว่า การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงคนทำขาดทุนแน่นอน แต่ต้องมองว่าเป็นประโยชน์กับประเทศอย่างมหาศาล เพราะเมื่อทำแล้วจะสามารถทำให้เมืองกระจายออกไป ทำให้คนไปมีบ้านอยู่ข้างนอกกรุงเทพฯ แล้วนั่งรถเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาไม่นาน หากทำให้สำเร็จจะเป็นตัวอย่างว่าหากจะลงทุนต้องไม่ใช่ทำแบบเดี่ยวๆ แต่ต้องทำให้เกิดเมืองใหม่และอุตสาหกรรมไฮเทค

“นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ รองนายกฯ สมคิด เข้าใจ นายกฯ บอกลงทุนสูงขาดทุนเอกชนมาช่วยลงทุน ผมไม่เคยวิ่งเต้นนะโครงการนี้ ขาดทุนใครจะวิ่งเต้น ขอถามสิ คนไม่เข้าใจคนเข้าใจผมผิด แต่ถ้าตรงนี้ไม่ทำเสียดาย อย่างอู่ตะเภาหญ้าขึ้นเต็มเลย เสียดายถ้าจะต้องทำเป็นสนามบินพาณิชย์เพื่อให้คนแค่มาเที่ยว แต่ต้องให้เมืองขยายมาตรงนี้ ดึงเอาศูนย์กลางอาเซียนมาอยู่ตรงนี้ ถ้าเราทำตรงนี้ได้โรงเรียน โรงพยาบาลชั้น 1 ของโลกก็มา มันจะตามมาพวกไฮเทคมาหมด เพราะทุกอย่างสะดวกและจะได้คนเก่งๆ รวมถึงคนไทยที่ไปเรียนจบต่างประเทศกลับมาทำงานให้ประเทศ” เจ้าสัวธนินท์ บอก

ประธานคณะผู้บริหาร ซี.พี. กล่าวว่า การที่รัฐบาลได้เร่งรัดให้เอกชนไทยลงทุน เพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวนั้น กลุ่ม ซี.พี.เองก็มีการลงทุนเปลี่ยนแปลงโรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เตรียมจะลงทุนในโครงการที่เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว กลางเล็ก ซึ่งจะเป็นส่วนที่สามารถสร้างงานได้มาก รวมถึงการลงทุนผลิตยาที่ปัจจุบันบริษัทลงทุนอยู่ในประเทศอยู่แล้ว แต่จะขยายฐานการผลิตมาที่ไทยเพิ่มเติม

“กลุ่มจะเพิ่มการลงทุนการวิจัยพัฒนาโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดคิดค้นอาหาร 4 โครงการ ทั้งสำหรับคนป่วย สำหรับผู้สูงอายุ อาหารเพื่อสุขภาพตามวัยที่จะทำให้คนแก่ช้าลง ซึ่งเป็นการลงทุนให้สอดคล้องกับแนวโน้มของสังคมสูงวัยหรือต้องตามให้ทันเทรนด์ของโลก และยังมีความร่วมมือกับบริษัทดูปองในด้านเกษตรและอาหาร 5 โครงการ รวมถึงร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ในการวิจัยและพัฒนาด้านไบโอเทคโนโลยี หุ่นยนต์”

เจ้าสัวธนินท์ ระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ หรือยุค 4.0 มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ต้องทำให้นักลงทุนไทยและจากทั่วโลกรู้ว่ารัฐบาลจะให้การส่งเสริมให้สิทธิประโยชน์ และหาช่องทางดึงนักลงทุนที่กำลังมองหาแหล่งลงทุนใหม่นี้ให้เลือกประเทศไทย ซึ่งแม้นักลงทุนจะเลือกอยู่ระหว่าง 3 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่ไทยคือประเทศที่มีความพร้อมมากที่สุด

“วิกฤตนั้นจะตามมาด้วยโอกาส แต่คนนั่งอยู่ไม่ลุกจากเก้าอี้ก็ไม่เกิดโอกาส ตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เราต้องมองว่าวิกฤตเป็นโอกาสเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งโอกาสสำเร็จมีสูงเพราะรัฐบาลมีนโยบายชัด” เจ้าสัวธนินท์ กล่าว

เจ้าสัวธนินท์ ยังย้ำว่า การที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีเวลาจำกัดก็ไม่ได้มีความกังวล แต่อยากให้เรื่องที่เป็นระยะยาวของประเทศให้ออกกฎหมายที่ทุกๆ รัฐบาลเข้ามาแล้วต้องดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

“สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือส่งเสริมเอสเอ็มอี เพราะเอสเอ็มอีจะเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ พร้อมกับสนับสนุนพัฒนาฝีมือแรงงานคนไทยให้เป็นระดับช่าง หรือเป็นแรงงานฝีมือที่มีรายได้สูงขึ้น” ธนินท์ ระบุ