posttoday

ก.เกษตรเร่งหนุนผู้เลี้ยงโคนมดำเนินธุรกิจยั่งยืน

24 มิถุนายน 2559

กระทรวงเกษตรฯ เร่งสนับสนุน ผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์ให้สามารถดำเนินธุรกิจโคนมอย่างยั่งยืน

กระทรวงเกษตรฯ เร่งสนับสนุน ผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์ให้สามารถดำเนินธุรกิจโคนมอย่างยั่งยืน

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ อ.มวกเหล็ก ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทาน โดยกระทรงเกษตรและสหกรณ์ได้สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์ให้สามารถดำเนินธุรกิจโคนมอย่างยั่งยืน โดยการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร และการลดต้นทุนการผลิตของพี่น้องเกษตรกร จึงได้ดำเนิน “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตน้ำนมโคครบวงจร ระยะที่ 1” ซึ่งเป็นการบุรณาการร่วมกับของหลายหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) รวมทั้ง ธ.ก.ส. เพื่อร่วมกันพัฒนาอาชีพโคนมของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนโครงการของรัฐบาล ตามหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย และจังหวัดสระบุรีด้วย ซึ่งสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด เป็น 1 ใน 3 สหกรณ์ต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวนี้ และมีผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานตามเป้าหมายการปรับโครงสร้างการผลิตและลดต้นทุนการผลิตน้ำนมโคของเกษตรกร

การปรับโครงสร้างการผลิตโคนมของสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ ดำเนินการภายใต้แนวคิด “เกษตรแปลงใหญ่ด้านปศุสัตว์” โดยเกษตรกรร่วมกันบริหารจัดการการผลิตแปลงหญ้าขนาดใหญ่กว่า 1,200 ไร่ มีการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลขนาดใหญ่มาใช้ในแปลงหญ้าขนาดใหญ่ ภายใต้แนวคิด Motor Pool เพื่อลดต้นทุนการผลิต แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรและปศุสัตว์ เพิ่มคุณภาพการผลิตอาหารสัตว์แก่โคนมให้เพียงพอ การเพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำนมโค เพื่อนำไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและจำหน่ายไปยังตลาดโดยสหกรณ์เอง เพื่อให้เกษตรกรและสหกรณ์สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งผลสำเร็จของการดำเนินโครงการฯ  สหกรณ์สามารถผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น 15 ตันต่อวัน  จากเดิมมีน้ำนมดิบเพียง125 ตันต่อวัน เพิ่มเป็น 140 ตันต่อวัน ทำให้สหกรณ์มีรายได้เพิ่มจากการขายน้ำนมดิบเพิ่มกว่า 100 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ สหกรณ์จะสามารถผลิตหญ้าและอาหารหยาบคุณภาพดีไม่น้อยกว่า 2,000 ตันต่อปี บนพื้นที่แปลงใหญ่ 1,200 ไร่  ผลิตอาหารผสมสำเร็จครบส่วน (TMR) ไม่น้อยกว่า 10,000 ตัน/ปี และผลิตโคสาวคุณภาพดี จำนวน 1,000 ตัว/ปี ซึ่งจะเป็นความสำเร็จในระยะต่อไป

น.สพ.อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว ดำเนินการภายใต้กิจกรรมหลัก 5 กิจกรรม คือ

1) การปรับปรุงโครงการฟาร์มโคนมของเกษตรกร มีการติดตั้งระบบรีดนม (Milking pipeline) และระบบถังเก็บนมพร้อมเครื่องทำความเย็น (Cooling tank) เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตน้ำนมโคตามมาตรฐานฟาร์มโคนม (GAP)

2) การจัดตั้งศูนย์ผลิตอาหารโคนม (Feed Center) และการทำแปลงหญ้าขนาดใหญ่ โดยสหกรณ์ผลิตอาหาร TMR (Total Mix Ration) และสหกรณ์ก็จัดส่งอาหาร TMR ให้ถึงฟาร์มของเกษตรกรโดยตรง ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพการผลิตน้ำนมโค รวมทั้งยังลดต้นทุนการผลิตด้วย เพราะเกษตรกรและสหกรณ์ผลิตอาหารและหญ้าร่วมกัน ภายใต้การบริหารจัดการแบบแปลงใหญ่ และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคปศุสัตว์ด้วย

3) การจัดฟาร์มโคสาวทดแทนรวมของสหกรณ์ โดยเกษตรกรส่งลูกโคหย่านมมาเลี้ยงรวมกันที่ฟาร์มโคสาวทดแทนของสหกรณ์ เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงลูกโค รวมทั้งเกษตรกรสามารถซื้อโคสาวคุณภาพดีและตั้งท้องพร้อมรีดนม กลับไปเลี้ยงที่ฟาร์มของตนเองได้เลย โดยไม่ต้องแบกภาระการเลี้ยงลูกโคและโคสาวกว่า 2 ปี

4) การปรับปรุงการขนส่งน้ำนมดิบเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ โดยสหกรณ์จะดำเนินการรับน้ำนมดิบถึงหน้าฟาร์มของเกษตรกร ทุก 2 - 3 วัน จากเดิมที่เกษตรกรต้องมาส่งนมที่สหกรณ์เองทุกวัน โดยน้ำนมดิบจะถูกเก็บใน cooling tank ประจำฟาร์ม รอรถขนส่งนมของสหกรณ์ไปรับน้ำนมดิบที่หน้าฟาร์มเกษตรกร ซึ่งจะทำให้น้ำนมดิบของเกษตรกรถูกเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมตลอดเวลา และมีคุณภาพที่ดี

และ 5) มีการจัดตั้งหน่วยพัฒนาสุขภาพและผลผลิตโคนม (Dairy Herd Health Unit: DHHU) ระหว่างหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสหกรณ์ เพื่อให้บริการดูแลสุขภาพของโคนมของเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของน้ำนมดิบให้มีมาตรฐานสากล

ด้าน ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การส่งเสริมการเลี้ยงโคนมเพื่อผลิตน้ำนมดิบนี้ จะส่งเสริมผ่านระบบสหกรณ์ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรักษาคุณภาพน้ำนมดิบ และลดต้นทุนการขนส่งผลผลิตได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรให้สามารถขายน้ำนมดิบได้ในราคาที่ดีขึ้น  เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพสานต่ออาชีพพระราชทานได้อย่างยั่งยืน การดำเนินการผ่านระบบสหกรณ์  จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรได้รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรที่ประกอบอาชีพอย่างเดียวกัน ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังจะดำเนิน “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตน้ำนมโคครบวงจร ระยะที่ 2” ซึ่งมีสหกรณ์โคนมกว่า 20 แห่ง สนใจที่จะขอเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ในระยะที่ 2 โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินกู้ ผ่าน ธ.ก.ส. และหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ อสค. ให้การสนับสนุนเกษตรกรและสหกรณ์ในด้านเทคนิควิชาการการเลี้ยงโคนมและการบริหารจัดการธุรกิจสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป